ผลสำรวจจากภาคเอกชนที่เผยแพร่ในวันนี้ (1 พ.ย.) พบว่า ในเดือนต.ค. ภาคการผลิตของญี่ปุ่นหดตัวเร็วที่สุดในรอบ 3 เดือน สาเหตุมาจากความต้องการสินค้าที่ลดลงทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อยอดขายและผลผลิต
ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของญี่ปุ่นจาก au Jibun Bank ลดลงเหลือ 49.2 ในเดือนต.ค. จาก 49.7 ในเดือนก.ย. แม้จะดีขึ้นเล็กน้อยจากตัวเลขประมาณการเบื้องต้นที่ 49.0 ก็ตาม แต่ดัชนีก็อยู่ต่ำกว่าระดับ 50 มาแล้ว 4 เดือนติดต่อกัน
ทั้งนี้ ดัชนี PMI ที่ระดับสูงกว่า 50 บ่งชี้ว่ากิจกรรมทางธุรกิจอยู่ในภาวะขยายตัว ส่วนดัชนีที่ต่ำกว่า 50 บ่งชี้ว่าอยู่ในภาวะหดตัว
"หลายบริษัทรายงานว่ากำลังซื้อที่อ่อนแอทั้งในและต่างประเทศส่งผลกระทบต่อยอดขายและผลผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์" อุซามะฮ์ ภัตติ นักเศรษฐศาสตร์จากเอสแอนด์พี โกลบอล อินเทลลิเจนซ์ กล่าว
ดัชนีย่อยด้านผลผลิตได้หดตัวลงต่อเนื่องจนแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. สาเหตุมาจากคำสั่งซื้อใหม่ที่น้อยลงและมีสินค้าคงคลังมากเกินไป
คำสั่งซื้อใหม่ยังคงหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 17 โดยดัชนีอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 สถานการณ์นี้สะท้อนว่ายอดขายมีแนวโน้มลดลงอีก สาเหตุหลักมาจากความต้องการที่ซบเซาในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ บริษัทต่าง ๆ ยังระบุว่าอุปสงค์ที่อ่อนแอทั้งในและต่างประเทศเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คำสั่งซื้อใหม่ลดลง
คำสั่งซื้อสินค้าส่งออกใหม่หดตัวแรงที่สุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค. เนื่องจากความต้องการสินค้าที่ซบเซาในสหรัฐฯ และจีน
ต้นทุนการผลิตในเดือนต.ค.ยังคงปรับตัวสูงขึ้น แต่อัตราการเพิ่มขึ้นได้ชะลอตัวลงมาอยู่ในระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. โดยผู้ผลิตระบุว่าปัจจัยที่ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นมาจากหลายสาเหตุ ทั้งราคาวัตถุดิบ แรงงาน โลจิสติกส์ และสาธารณูปโภคที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมไปถึงเงินเยนที่อ่อนค่าลง
ผู้ผลิตต้องปรับราคาขายสินค้าขึ้นในเดือนต.ค. เนื่องจากต้นทุนการดำเนินงานที่พุ่งสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาผลผลิตแตะระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือน
ผู้ผลิตยังคงมองอนาคตในแง่บวก แต่ระดับความเชื่อมั่นยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ใกล้เคียงกับเดือนก.ย.ซึ่งต่ำที่สุดในรอบ 21 เดือน
"บริษัทต่าง ๆ แสดงความกังวลถึงความไม่แน่นอนของระยะเวลาในการฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจซบเซาในปัจจุบัน" ภัตติกล่าว