ผลสำรวจภาคเอกชนเผยว่า กิจกรรมภาคการผลิตของญี่ปุ่นหดตัวรุนแรงที่สุดในรอบ 8 เดือนในเดือนพ.ย. สืบเนื่องจากอุปสงค์ที่ซบเซาทำให้บริษัทต่าง ๆ ต้องปรับลดกำลังการผลิต
ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของญี่ปุ่นจาก au Jibun Bank ปรับตัวลงจากระดับ 49.2 ในเดือนต.ค. สู่ระดับ 49.0 ในเดือนพ.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค. โดยเป็นไปตามตัวเลขเบื้องต้น และยังคงต่ำกว่าระดับ 50.0 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5
ทั้งนี้ ดัชนี PMI ที่ระดับสูงกว่า 50 บ่งชี้ว่ากิจกรรมทางธุรกิจอยู่ในภาวะขยายตัว ส่วนดัชนีที่ต่ำกว่า 50 บ่งชี้ว่าอยู่ในภาวะหดตัว
"ภาพรวมภาคการผลิตของญี่ปุ่นในเดือนพ.ย.อยู่ในทิศทางขาลง" อุซามะฮ์ ภัตติ จากเอสแอนด์พี โกลบอล มาร์เก็ต อินเทลลิเจนซ์ (S&P Global Market Intelligence) กล่าว
ดัชนีย่อยด้านคำสั่งซื้อใหม่ยังคงหดตัวต่อเนื่องในเดือนพ.ย. แม้ว่าหดตัวในอัตราที่ชะลอลงจากเดือนต.ค. โดยดัชนียังคงต่ำกว่าระดับ 50 มาเป็นเวลาหนึ่งปีครึ่ง สาเหตุหลักมาจากอุปสงค์ที่อ่อนแอทั้งในและต่างประเทศ ขณะที่คำสั่งซื้อใหม่จากต่างประเทศหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 33
บริษัทต่าง ๆ ยังต้องปรับลดการผลิตเนื่องจากอุปสงค์ที่ซบเซา โดยเฉพาะในภาคเซมิคอนดักเตอร์และยานยนต์ ส่งผลให้ผลผลิตดิ่งลงแรงที่สุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. ส่วนการจ้างงานก็หดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 9 เดือน
ถึงกระนั้น แรงกดดันด้านต้นทุนยังคงรุนแรง อันเป็นผลมาจากค่าแรง ค่าขนส่ง และค่าวัตถุดิบที่พุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะวัตถุดิบนำเข้า ส่วนอัตราเงินเฟ้อด้านราคาผลผลิตแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.ค.
"บริษัทต่าง ๆ จำเป็นต้องขึ้นราคาขายแรงขึ้นเพื่อรักษาอัตรากำไร" ภัตติกล่าว
ผลสำรวจระบุว่า แม้อุปสงค์ซบเซา แต่ผู้ผลิตยังคงมองแนวโน้มธุรกิจในแง่บวก โดยระดับความเชื่อมั่นพุ่งแตะจุดสูงสุดในรอบ 3 เดือน ด้วยความหวังจากการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม