ดัชนี PMI ชี้ ภาคการผลิตยูโรโซนทรุดหนักเดือนพ.ย. มองอนาคตไม่สดใส

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 2, 2024 17:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ผลสำรวจระบุว่า กิจกรรมภาคการผลิตในยูโรโซนดิ่งลงอย่างหนักในเดือนพ.ย. อีกทั้งอุปสงค์ที่อ่อนแอลงเรื่อย ๆ ดูจะทำลายความหวังการฟื้นตัวในเร็ววันให้มลายหายไป ทั้งที่ภาคส่วนนี้เพิ่งส่งสัญญาณว่าอาจมีเสถียรภาพอยู่บ้างในเดือนต.ค.

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของยูโรโซนจาก HCOB ซึ่งจัดทำโดย S&P Global ร่วงแตะระดับ 45.2 ในเดือนพ.ย. ตรงตามตัวเลขประเมินเบื้องต้น

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ตัวเลขดังกล่าวต่ำกว่าระดับของเดือนต.ค.ที่ 46.0 และอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 มาตั้งแต่กลางปี 2565

ทั้งนี้ ดัชนี PMI ที่ระดับสูงกว่า 50 บ่งชี้ว่ากิจกรรมทางธุรกิจอยู่ในภาวะขยายตัว ส่วนดัชนีที่ต่ำกว่า 50 บ่งชี้ว่าอยู่ในภาวะหดตัว

ดัชนีวัดผลผลิต ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของดัชนีรวมภาคการผลิต-ภาคบริการที่จะเผยแพร่ในวันพุธนี้ (4 ธ.ค.) และถือเป็นเครื่องชี้วัดสุขภาพทางเศรษฐกิจ ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 45.1 ในเดือนพ.ย. จาก 45.8 ในเดือนต.ค.

"ตัวเลขเหล่านี้น่าหดหู่อย่างยิ่ง ราวกับว่าภาวะถดถอยในภาคการผลิตของยูโรโซนจะไม่มีวันจบสิ้น เมื่อคำสั่งซื้อใหม่ร่วงลงอย่างรวดเร็วและรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ โอกาสฟื้นตัวในเร็ววันแทบมองไม่เห็น" ไซรัส เดอ ลา รูเบีย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์แห่งธนาคารฮัมบูร์ก คอมเมอร์เชียล แบงก์ (HCOB) กล่าว

"ความซบเซานี้แผ่ขยายในวงกว้าง กระทบสามประเทศชั้นนำของยูโรโซน โดยเยอรมนีและฝรั่งเศสย่ำแย่ที่สุด ส่วนอิตาลีก็ไม่ได้ดีไปกว่ากันเท่าไร"

แม้ผู้ผลิตจะปรับลดราคาลง แต่ในภาวะที่ความต้องการซื้อซบเซาเช่นนี้ โรงงานต่าง ๆ ก็ยังลดการจ้างงานลงในอัตราสูงที่สุดนับแต่วิกฤตโควิด-19 เริ่มแพร่กระจายไปทั่วโลก ดัชนีการจ้างงานร่วงลงจาก 46.2 เหลือ 45.2 ซึ่งต่ำที่สุดนับแต่เดือนส.ค. 2563

ความต้องการจากต่างประเทศ รวมถึงการค้าระหว่างประเทศในยูโรโซน ก็ลดลงเร็วขึ้น และมีแนวโน้มจะยิ่งทรุดหนัก เมื่อโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ผู้จะกลับคืนสู่ทำเนียบขาวในเดือนม.ค.นี้ เสนอเก็บภาษีนำเข้า 10% กับสินค้าทุกประเภท ซึ่งจะทำให้สินค้ายุโรปมีราคาแพงขึ้นในสหรัฐฯ และเป็นที่ต้องการน้อยลง


แท็ก S&P  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ