ผลสำรวจภาคเอกชนระบุว่า กิจกรรมภาคบริการของจีนชะลอตัวลงในเดือนพ.ย. เนื่องจากธุรกิจใหม่ ซึ่งรวมถึงธุรกิจด้านส่งออกปรับตัวลดลง ขณะที่เศรษฐกิจจีนเตรียมรับมือความผันผวนจากมาตรการขึ้นภาษีรอบใหม่ของสหรัฐฯ ภายใต้รัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ สมัยที่สอง
ผลสำรวจซึ่งจัดทำโดยไฉซิน/เอสแอนด์พี โกลบอล (Caixin/S&P Global) ระบุในวันนี้ (4 ธ.ค.) ว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการของจีน ปรับตัวลงสู่ระดับ 51.5 ในเดือนพ.ย. จาก 52.0 ในเดือนต.ค.
อย่างไรก็ดี ดัชนี PMI ที่ระดับสูงกว่า 50 บ่งชี้ว่ากิจกรรมทางธุรกิจยังคงอยู่ในภาวะขยายตัว ส่วนดัชนีที่ต่ำกว่า 50 บ่งชี้ว่าอยู่ในภาวะหดตัว
ตัวเลขนี้สอดคล้องกับดัชนี PMI จากทางการจีนที่เผยแพร่เมื่อวันเสาร์ (30 พ.ย.) ซึ่งชี้ว่า กิจกรรมนอกภาคการผลิตอ่อนแรงลงสู่ระดับ 50.0
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เศรษฐกิจจีนเผชิญแรงกดดันรอบด้านตลอดปีนี้ ทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากภาวะซบเซายืดเยื้อในตลาดอสังหาริมทรัพย์ ความเสี่ยงจากหนี้ของรัฐบาลท้องถิ่น และอุปสงค์โลกที่อ่อนแอ
ขณะที่ตลาดรอมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติมจากภาครัฐ คำขู่ของทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนกว่า 60% ก็ได้เพิ่มความไม่แน่นอนให้กับจีน ซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับสองของโลก
"ผู้ประกอบการในภาคบริการส่วนใหญ่มองว่าตลาดจะดีขึ้นจากมาตรการสนับสนุนของรัฐ แม้บางรายจะกังวลเรื่องสถานการณ์การค้าในอนาคต" หวัง เจ๋อ นักเศรษฐศาสตร์ของไฉซิน อินไซต์ กรุ๊ป (Caixin Insight Group) ระบุ
ผลสำรวจแสดงให้เห็นว่า ดัชนีย่อยด้านธุรกิจใหม่ลดลงมาอยู่ที่ 51.8 ในเดือนพ.ย. จาก 52.1 ในเดือนก่อนหน้า และการขยายตัวของธุรกิจใหม่จากต่างประเทศก็ชะลอลงด้วย
อย่างไรก็ตาม บริษัทต่าง ๆ ยังคงรับพนักงานเพิ่มต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 เพื่อรองรับปริมาณงาน และความเชื่อมั่นทางธุรกิจโดยรวมแตะระดับสูงสุดในรอบ 7 เดือน
ส่วนดัชนี PMI รวมภาคการผลิต-ภาคบริการของจีนจากไฉซิน/เอสแอนด์พี โกลบอล เพิ่มขึ้นเป็น 52.3 ในเดือนพ.ย. จาก 51.9 ในเดือนต.ค. โดยได้แรงหนุนจากการขยายตัวที่เร็วขึ้นของภาคการผลิต