เงินเฟ้อภาคค้าส่งของญี่ปุ่นพุ่งในเดือนพ.ย. กดดัน BOJ จ่อปรับขึ้นดอกเบี้ย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 11, 2024 09:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ข้อมูลที่เปิดเผยในวันนี้ (11 ธ.ค.) บ่งชี้ว่า เงินเฟ้อภาคค้าส่งของญี่ปุ่นเร่งตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ขณะที่บริษัทต่าง ๆ ยังผลักภาระต้นทุนวัตถุดิบและค่าแรงที่พุ่งสูงไปยังราคาสินค้า ส่งผลให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เผชิญแรงกดดันให้ต้องปรับดอกเบี้ยขึ้นอีกครั้ง

ข้อมูลจาก BOJ บ่งชี้ว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (CGPI) ซึ่งเป็นดัชนีที่ใช้วัดราคาสินค้าและบริการที่บริษัทขายให้แก่กัน ปรับตัวขึ้น 3.7% ในเดือนพ.ย.เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 3.4%

การปรับตัวขึ้นครั้งนี้ต่อเนื่องจากเดือนต.ค.ที่เพิ่มขึ้น 3.6% โดยมีปัจจัยจากราคาอาหาร กลุ่มโลหะที่ไม่ใช่เหล็ก และผลิตภัณฑ์พลาสติกที่แพงขึ้น อันเป็นผลมาจากต้นทุนวัตถุดิบและค่าแรงที่พุ่งสูงขึ้น ส่งผลให้ดัชนี CGPI แตะระดับ 124.3 ทำสถิติสูงสุดใหม่เป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน

ข้อมูลยังระบุว่า ราคาสินค้าเกษตรและประมงในเดือนพ.ย.พุ่งแรงถึง 31% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว หลังจากที่เพิ่มขึ้น 28.1% ในเดือนต.ค. โดยมีสาเหตุหลักมาจากราคาข้าวที่ทะยานขึ้น

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ตัวเลขของเดือนพ.ย.นี้ออกมาก่อนการประชุมนโยบายการเงินของ BOJ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 18-19 ธ.ค.นี้ โดยนักวิเคราะห์บางรายคาดว่า BOJ จะปรับขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้นจากระดับ 0.25% ในปัจจุบัน

ข้อมูลดังกล่าวสั่นคลอนมุมมองของ BOJ ที่เชื่อว่า แรงกดดันเงินเฟ้อจากการนำเข้าวัตถุดิบจะค่อย ๆ เบาบางลง ซึ่งจะช่วยลดภาระครัวเรือน กระตุ้นการใช้จ่าย และฟื้นฟูเศรษฐกิจในภาพรวม

ทั้งนี้ คาซูโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการ BOJ ส่งสัญญาณว่าพร้อมปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งในเร็ว ๆ นี้ หาก BOJ เห็นแนวโน้มชัดเจนว่า เงินเฟ้อจะทรงตัวที่ระดับ 2% ด้วยแรงหนุนจากการบริโภคและการปรับขึ้นค่าจ้างที่แข็งแกร่ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ