ดัชนีชี้นำเงินเฟ้อภาคบริการของญี่ปุ่นปรับตัวขึ้นแตะ 3.0% ในเดือนพ.ย. เร่งตัวขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง สูงกว่าตัวเลข 2.9% ในเดือนต.ค. สะท้อนการส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของภาคธุรกิจไปยังผู้บริโภค ท่ามกลางการปรับขึ้นค่าจ้าง
ดัชนีราคาผู้ผลิตภาคบริการ ซึ่งสะท้อนราคาที่ภาคธุรกิจเรียกเก็บระหว่างกัน แตะระดับ 109.1 ซึ่งสูงสุดในรอบเกือบ 30 ปี โดยได้แรงหนุนจากราคาบริการที่เพิ่มขึ้นในวงกว้าง ครอบคลุมตั้งแต่ธุรกิจที่พัก บริการซ่อมเครื่องจักร ไปจนถึงงานก่อสร้าง
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ผู้รวบรวมข้อมูลชุดนี้ กำลังเฝ้าติดตามเงินเฟ้อภาคบริการอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินว่าการปรับตัวขึ้นของราคาที่มาจากแรงอุปสงค์นั้น มีการแพร่กระจายกว้างขวางเพียงพอที่จะสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรือไม่
ผู้ว่าการคาซูโอะ อูเอดะ ส่งสัญญาณว่า BOJ พร้อมปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่อง หากอัตราเงินเฟ้อยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางที่จะบรรลุเป้าหมาย 2% อย่างมีเสถียรภาพ แม้จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในการประชุมเมื่อเดือนธ.ค. โดยระบุว่าจะพิจารณาข้อมูลแนวโน้มค่าจ้างในปีหน้าอย่างถี่ถ้วน ก่อนตัดสินใจเรื่องจังหวะเวลาในการปรับขึ้นต้นทุนการกู้ยืม
ทั้งนี้ BOJ ได้ตัดสินใจยุติมาตรการดอกเบี้ยติดลบในเดือนมี.ค. และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายระยะสั้นเป็น 0.25% ในเดือนก.ค. โดยผู้ร่วมตอบแบบสำรวจทั้งหมดในโพลของสำนักข่าวรอยเตอร์ช่วงต้นเดือนนี้ คาดการณ์ว่า BOJ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็น 0.50% ภายในสิ้นเดือนมี.ค. โดย BOJ มีกำหนดประชุมทบทวนอัตราดอกเบี้ยครั้งถัดไปในวันที่ 23-24 ม.ค. และตามด้วยการประชุมในวันที่ 18-19 มี.ค.