ตามข้อมูลศุลกากรท้องถิ่นที่เปิดเผยเมื่อวันพฤหัสบดี (2 ม.ค.) การใช้จ่ายในร้านค้าปลอดภาษีของมณฑลไหหลำ (ไห่หนาน) แหล่งชอปปิงสินค้าหรูที่กำลังผงาดขึ้นของจีน ทรุดหนักถึง 29.3% ในปี 2567 เมื่อเทียบกับปีก่อน เหลือเพียง 3.094 หมื่นล้านหยวน (4.24 พันล้านดอลลาร์)
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ภาวะซบเซานี้มีสาเหตุจากเศรษฐกิจที่อ่อนแอและจำนวนนักท่องเที่ยวในประเทศที่ลดฮวบฮาบ ซึ่งส่งสัญญาณอันตรายถึงแบรนด์หรูระดับโลกและเป้าหมายการกระตุ้นการบริโภคของจีน
จำนวนนักชอปที่มาเยือนไหหลำหดตัวลง 15.9% เหลือ 5.683 ล้านคน จากเดิม 6.756 ล้านคนในปี 2566
แม้ยอดค้าปลีกในไหหลำจะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศมากนัก แต่การลดลงครั้งนี้ถือเป็นข่าวร้ายสำหรับแบรนด์หรูต่างชาติที่หวังจะได้เห็นการเติบโตหลังโควิด-19 ซึ่งก่อนหน้านี้ยอดขายพุ่งขึ้น 3 เท่าจากปี 2562 ขึ้นมาแตะที่ 4.376 หมื่นล้านหยวนในปี 2566 โดยได้แรงหนุนจากนโยบายปี 2563 ที่เพิ่มวงเงินซื้อสินค้าปลอดภาษีในห้างปลอดภาษีทั้ง 12 แห่งของไหหลำ
การบริโภคในประเทศชะลอตัวลงโดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 หลังกระแส "ชอปล้างแค้น" (Revenge spending) ในช่วงหลังโควิด-19 เริ่มซาลง ยอดค้าปลีกโดยรวมในเดือนพ.ย.โตเพียง 3.0% เมื่อเทียบกับปีก่อน ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 4.6% อย่างมาก
ภาวะซบเซาในปี 2567 ส่อเค้าไม่ดีต่อแผนเปลี่ยนเกาะไหหลำทั้งเกาะให้เป็นเขตชอปปิงปลอดภาษีในปี 2568 เพื่อหวังจะดึงนักชอปจีนออกมาจากฮับปลอดภาษีในต่างประเทศอย่างเกาะเชจูของเกาหลีใต้ และช่วยกระตุ้นการบริโภคในจีนตอนใต้ โดยภายใต้แผนขยายตัวนี้ แบรนด์ต่าง ๆ จะสามารถเปิดร้านค้าปลอดภาษีได้เอง โดยไม่ต้องพึ่งพันธมิตรท้องถิ่นอย่าง China Duty Free Group
ทั้งนี้ ช่วงปลายปีที่ผ่านมา คณะผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนระบุว่า จีนต้องกระตุ้นการบริโภคอย่าง "จริงจัง" ในปี 2568 และขยายอุปสงค์ในประเทศ "ทุกด้าน"