ต้นปี 2568 นี้ อินเดียเริ่มเห็นสัญญาณชะลอตัวทางเศรษฐกิจ โดยกิจกรรมทางธุรกิจในเดือนม.ค.เติบโตช้าที่สุดในรอบกว่าหนึ่งปี ถึงแม้บริษัทต่าง ๆ จะยังคงจ้างงานกันอย่างคึกคักทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ก็ตาม ปรากฏการณ์นี้ส่งสัญญาณว่า เศรษฐกิจอินเดียที่เคยแข็งแกร่งกำลังเริ่มมีรอยร้าว
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ภาคบริการถือเป็นกำลังสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของอินเดียซึ่งใหญ่เป็นอันดับ 3 ของเอเชีย ตัวเลขล่าสุดนี้สร้างความกังวลต่อความมั่นคงของเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยรัฐบาลคาดการณ์ว่า การเติบโตโดยรวมในปีงบประมาณนี้จะชะลอตัวลงเหลือ 6.4%
ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิต-ภาคบริการขั้นต้นของอินเดียเดือนม.ค.จาก HSBC ซึ่งจัดทำโดย S&P Global แตะระดับ 57.9 ซึ่งต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.ปี 2566 โดยลดลงจากระดับ 59.2 ในเดือนธ.ค.
ทั้งนี้ ดัชนี PMI ที่ระดับสูงกว่า 50 บ่งชี้ว่ากิจกรรมทางธุรกิจอยู่ในภาวะขยายตัว ส่วนดัชนีที่ต่ำกว่า 50 บ่งชี้ว่าอยู่ในภาวะหดตัว และดัชนี PMI รวมก็อยู่เหนือระดับ 50 มาเป็นเวลา 3 ปีครึ่ง ซึ่งเป็นช่วงการเติบโตต่อเนื่องที่ยาวนานที่สุดนับตั้งแต่กลางปี 2556
ด้านดัชนี PMI ภาคการผลิตขั้นต้นของอินเดียเดือนม.ค. พุ่งขึ้นไปที่ 58.0 ซึ่งสูงที่สุดในรอบ 6 เดือน จากเดิม 56.4 ในเดือนธ.ค.
อย่างไรก็ตาม ภาคบริการกลับชะลอตัวลงอย่างมาก โดยดัชนี PMI ภาคบริการขั้นต้นของอินเดียเดือนม.ค. ร่วงลงมาอยู่ที่ 56.8 ต่ำสุดในรอบ 26 เดือน จากระดับ 59.3 ในเดือนธ.ค.
"อุตสาหกรรมการผลิตของอินเดียเริ่มต้นปีนี้ได้ดี ทั้งกำลังการผลิตและออร์เดอร์ใหม่ ๆ ก็ปรับตัวดีขึ้นหลังจากที่ซบเซาในช่วงไตรมาส 3" ปราณจุล ภัณฑารี หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำอินเดียของ HSBC ระบุ
"แต่ในภาคบริการ การเติบโตของธุรกิจในประเทศที่ชะลอตัวลงนี้ อาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงจุดอ่อนในระบบเศรษฐกิจที่กำลังจะเกิดขึ้น"
ภาคการผลิตและบริการของอินเดียกำลังเดินสวนทางกัน โดยภาคการผลิตมีคำสั่งซื้อใหม่และผลผลิตเพิ่มขึ้น แต่ภาคบริการกลับมียอดขายใหม่ต่ำสุดในรอบ 14 เดือน
อย่างไรก็ตาม ยังมีสัญญาณบวกจากการส่งออกที่ขยายตัวดีที่สุดในรอบ 6 เดือน โดยเติบโตขึ้นทั้งภาคการผลิตและบริการ
ด้านการจ้างงานในภาคเอกชนพุ่งสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เริ่มทำการสำรวจเมื่อเดือนธ.ค. 2548
ในด้านเงินเฟ้อ แม้ภาคการผลิตจะมีต้นทุนลดลง แต่ภาคบริการกลับเผชิญแรงกดดันด้านราคาสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนส.ค. 2566 โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่จำเป็นต้องปรับขึ้นราคาเพื่อชดเชยต้นทุนที่พุ่งสูงขึ้น โดยผลักภาระไปให้ลูกค้า
ส่วนมุมมองธุรกิจปีหน้าแตกต่างกันในแต่ละภาค ภาคการผลิตยังมองโลกในแง่ดี ความเชื่อมั่นสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค. 2567 ขณะที่ภาคบริการเริ่มกังวลเรื่องการแข่งขันที่รุนแรง ทำให้ความเชื่อมั่นลดลงต่ำสุดในรอบ 3 เดือน