ยอดค้าปลีกเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดสำคัญด้านการใช้จ่ายภาคเอกชน ทรุดตัวลงมากที่สุดในรอบ 21 ปีในปี 2567 ทำให้เป็นการหดตัวปีที่ 3 ติดต่อกัน แม้ภาคอุตสาหกรรมการผลิตยังคงแข็งแกร่ง ตามตัวเลขที่เปิดเผยวันนี้ (3 ก.พ.)
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติเกาหลีระบุว่า ยอดค้าปลีกปรับตัวลดลง 2.2% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เนื่องจากยอดขายทั้งสินค้าคงทนและไม่คงทน โดยเฉพาะอาหาร ได้รับผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง นับเป็นการหดตัวรายปีที่มากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2546 ที่ยอดค้าปลีกลดลง 3.2% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
สำนักข่าวยอนฮับรายงานว่า ภาวะถดถอยนี้ยังคงดำเนินมาเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน ต่อเนื่องจากที่หดตัว 0.3% ในปี 2565 และหดตัว 1.4% ในปี 2566
"นับเป็นการหดตัวที่ยาวนานที่สุดนับตั้งแต่เริ่มมีการจัดเก็บข้อมูลค้าปลีกมา" เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานดังกล่าวระบุ พร้อมชี้ว่า ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงกำลังซื้อในประเทศที่ยังซบเซา
ในทางตรงกันข้าม ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมกลับเติบโต 1.7% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมีปัจจัยหนุนจากความต้องการเซมิคอนดักเตอร์ที่แข็งแกร่ง ส่งผลให้การผลิตขยายตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 3
การลงทุนด้านสิ่งอำนวยความสะดวกกลับมาฟื้นตัว โดยในปี 2567 เติบโต 4.1% เมื่อเทียบกับปีก่อน จากความต้องการเครื่องจักรในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ที่เพิ่มสูงขึ้น พลิกจากปีก่อนหน้าที่หดตัว 5.5%
เมื่อนับเฉพาะในเดือนธ.ค. ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัว 2.3% จากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากความต้องการเซมิคอนดักเตอร์และยานยนต์เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการเติบโตรายเดือนครั้งแรกหลังจากหดตัวมา 3 เดือนติดต่อกัน
อย่างไรก็ดี สำนักงานสถิติฯ รายงานว่า เมื่อเทียบรายเดือน ยอดค้าปลีกยังคงลดลง 0.6% ในเดือนธ.ค. ทำให้หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยมีสาเหตุหลักมาจากยอดขายสินค้าไม่คงทน รวมถึงยานยนต์ ที่ลดลงถึง 6.7%
ส่วนการลงทุนในสิ่งอำนวยความสะดวกเพิ่มขึ้น 9.9% ในเดือนธ.ค. เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้แนวโน้มการเติบโตยังคงเป็นบวก