กระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงของญี่ปุ่น (MAFF) เปิดเผยในวันนี้ (4 ก.พ.) ว่า การส่งออกสินค้าเกษตร ป่าไม้ และประมงของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 3.7% สู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2567 แม้ว่าจีนสั่งห้ามนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่น หลังจากที่บริษัทโตเกียว อิเล็กทริก พาวเวอร์ หรือ เทปโก (TEPCO) ปล่อยน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะลงสู่ทะเลก็ตาม
MAFF ระบุว่า การส่งออกเมื่อปีที่แล้วมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 1.507 ล้านล้านเยน (9.7 พันล้านดอลลาร์) เพิ่มขึ้นจากระดับ 1.454 ล้านล้านเยนในปี 2566
คาซึโยชิ นากาสึกิ รองผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนนโยบายการส่งออกของ MAFF กล่าวว่า นับเป็นปีที่ 12 ติดต่อกันแล้วที่การส่งออกเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุด โดยชี้ว่า การส่งออกไปยังสหรัฐฯ และส่วนอื่น ๆ ของเอเชียที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นช่วยชดเชยการส่งออกไปยังจีนและฮ่องกงที่ลดลง
นากาสึกิกล่าวว่า "จำนวนร้านอาหารญี่ปุ่นที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และความนิยมต่ออาหารญี่ปุ่นที่สูงขึ้นอย่างกว้างขวาง ที่ได้รับแรงหนุนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเยือนญี่ปุ่นมากขึ้นเรื่อย ๆ เป็นปัจจัยสนับสนุนการเติบโต"
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เทปโกเริ่มปล่อยน้ำปนเปื้อนรังสีที่ผ่านการบำบัดแล้วจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะลงสู่ทะเลเมื่อเดือนส.ค. 2566 ส่งผลให้จีนระงับการนำเข้าอาหารทะเลทั้งหมดที่มีแหล่งกำเนิดจากญี่ปุ่น
แม้ว่าการส่งออกสินค้าเกษตร ป่าไม้ และประมงของญี่ปุ่นไปยังจีนจะร่วงลง 29.1% สู่ระดับ 1.681 แสนล้านเยนในปี 2567 แต่การส่งออกไปยังสหรัฐฯ กลับเพิ่มขึ้น 17.8% สู่ระดับ 2.42900 แสนล้านเยน ทำให้สหรัฐฯ กลายเป็นจุดหมายปลายทางการส่งออกอันดับหนึ่งของญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี
ขณะเดียวกัน การส่งออกไปยังเวียดนามและไทยเติบโตขึ้นมากกว่า 23% ในขณะที่การส่งออกไปยังไต้หวัน เกาหลีใต้ และยุโรปก็เพิ่มขึ้น 11-20% เช่นกัน ด้วยแรงหนุนจากความต้องการเครื่องปรุงรสและชาเขียวที่เพิ่มขึ้น
นากาสึกิระบุว่า การส่งออกหอยเชลล์ของญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในสินค้าที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากคำสั่งห้ามนำเข้าของจีน แต่การส่งออกไปยังสหรัฐฯ ไต้หวัน และเวียดนาม ที่เพิ่มขึ้น ช่วยชดเชยผลกระทบได้
"เราจะยังเดินหน้าสนับสนุนให้จีนกลับมานำเข้าอาหารทะเลให้ได้โดยเร็วที่สุด พร้อมกับส่งเสริมความพยายามในการเพิ่มช่องทางการขายผลิตภัณฑ์อาหารของญี่ปุ่นไปทั่วโลก" นากาสึกิกล่าว