สำนักงานสถิติอินโดนีเซียเปิดเผยวันนี้ (5 ก.พ.) ว่า GDP ของประเทศเติบโต 5.03% ในปี 2567 ซึ่งใกล้เคียงกับปีก่อนและเป็นไปตามการคาดการณ์ แต่นับเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำที่สุดในรอบ 3 ปี
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 เศรษฐกิจของประเทศที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนแห่งนี้เติบโตอยู่ที่ประมาณ 5% ซึ่งแม้จะถือว่าดี แต่ก็ยังห่างไกลจากเป้าหมาย 8% ที่ปราโบโว ซูเบียนโต ประธานาธิบดีคนใหม่ตั้งไว้ โดยในปี 2566 เศรษฐกิจอินโดนีเซียเติบโต 5.05%
ปี 2567 เศรษฐกิจได้แรงหนุนจากการใช้จ่ายในการหาเสียงและการเลือกตั้ง รวมถึงการลงทุนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งช่วยทดแทนการส่งออกสุทธิที่ลดลงได้ การลงทุนในปี 2567 เติบโต 4.61% เมื่อเทียบกับปีก่อน นับเป็นอัตราที่สูงที่สุดในรอบ 6 ปี
นอกจากนี้ การที่รัฐบาลชุดเก่าเร่งก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งทางด่วนและเขื่อน ให้เสร็จก่อนที่ปราโบโวจะเข้ารับตำแหน่งในเดือนต.ค. ก็มีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย
อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) ระบุเมื่อเดือนม.ค.ว่า แนวโน้มการเติบโตในปีนี้อาจได้รับผลกระทบจากมาตรการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ที่อาจส่งผลต่อการค้า และอุปสงค์ทั่วโลกที่ชะลอตัว พร้อมปรับลดคาดการณ์การเติบโตปี 2568 เหลือ 4.7%-5.5% จากเดิม 4.8%-5.6%
ด้าน BI ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงสองครั้งตั้งแต่เดือนก.ย. รวม 0.5% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
ขณะเดียวกัน รัฐบาลของปราโบโวก็ได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งการลดค่าไฟเพื่อเพิ่มกำลังซื้อ การแจกอาหารกลางวันให้นักเรียน และการสร้างที่อยู่อาศัยราคาประหยัด
สำหรับไตรมาส 4/2567 GDP เติบโต 5.02% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ใกล้เคียงกับที่นักวิเคราะห์ในโพลของสำนักข่าวรอยเตอร์คาดการณ์ไว้ที่ 4.98% และเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 4.95% ในไตรมาส 3/67
การบริโภคภาคครัวเรือนซึ่งมีสัดส่วนมากกว่าครึ่งของ GDP เติบโต 4.98% เมื่อเทียบกับปีก่อน อันเป็นผลจากการจับจ่ายในช่วงเทศกาล เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 4.91% ในไตรมาสก่อนหน้า
ด้านการลงทุนในไตรมาส 4/67 เติบโต 5.03% เมื่อเทียบกับปีก่อน ลดลงจาก 5.15% ในไตรมาส 3/67
ส่วน GDP ในไตรมาส 4/67 เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/67 โดยไม่ปรับค่าตามฤดูกาล เพิ่มขึ้น 0.53%