ผลสำรวจที่เผยแพร่ในวันนี้ (11 ก.พ.) แสดงให้เห็นว่า ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคชาวออสเตรเลียยังคงซบเซาในเดือนก.พ. โดยไม่ได้รับอานิสงส์จากภาวะเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลง หรือแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเร็ว ๆ นี้
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคออสเตรเลียจากสถาบันเวสต์แพค-เมลเบิร์น ขยับขึ้นเพียง 0.1% ในเดือนก.พ. หลังจากที่ลดลง 0.7% ในเดือนม.ค. ส่วนเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ดัชนีปรับตัวขึ้น 7.2% แตะที่ระดับ 92.2 ซึ่งตัวเลขต่ำกว่า 100 แสดงให้เห็นว่ายังคงมีคนมองแง่ลบมากกว่าแง่บวก
แนวโน้มการระมัดระวังการใช้จ่ายนี้ช่วยให้ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) มั่นใจได้ว่า ผู้บริโภคไม่ได้รีบเร่งใช้จ่ายจนทำให้เงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น และเปิดโอกาสให้มีการผ่อนคลายนโยบายการเงิน ซึ่งอาจเกิดขึ้นเร็วที่สุดในสัปดาห์หน้า
"ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 แต่การฟื้นตัวหยุดชะงักในช่วงสามเดือนที่ผ่านมา เนื่องจากแรงกดดันต่อสถานะทางการเงินของครอบครัวและสถานการณ์โลกที่ไม่แน่นอนมากขึ้น ได้บดบังความคาดหวังเรื่องการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในประเทศ" แมทธิว ฮัสซัน หัวหน้าฝ่ายพยากรณ์เศรษฐกิจมหภาคของออสเตรเลียจากเวสต์แพค กล่าว
ผลสำรวจพบว่า 36% ของผู้ตอบแบบสำรวจคาดว่าดอกเบี้ยบ้านจะลดลงในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ขณะที่ 21% มองว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง และ 28% คาดว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ตลาดการเงินมีความมั่นใจมากขึ้นเกี่ยวกับการผ่อนคลายนโยบายการเงิน โดยคาดว่ามีความเป็นไปได้ 95% ที่ธนาคารกลางออสเตรเลียจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (cash rate) ลงจากระดับ 4.35% ในการประชุมวันที่ 18 ก.พ.นี้
เมื่อดูรายละเอียดของผลสำรวจ พบว่าสิ่งที่กดดันมากที่สุดคือสถานะทางการเงินของครอบครัวเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งลดลง 3.4% มาอยู่ที่ 75.1 หลังจากที่ร่วงลง 7.8% ในเดือนม.ค.
แนวโน้มในอนาคตดูสดใสขึ้นเล็กน้อย โดยดัชนีสถานะทางการเงินของครอบครัวในช่วง 12 เดือนข้างหน้าเพิ่มขึ้น 0.6% สู่ระดับ 105.0 สะท้อนว่าคนส่วนใหญ่มองในแง่ดี
ผลสำรวจยังชี้ว่า มุมมองต่อเศรษฐกิจในอีก 12 เดือนข้างหน้าปรับตัวดีขึ้น 1.9% ส่วนมุมมองระยะยาว 5 ปีก็ขยับขึ้น 0.9%
ส่วนดัชนีที่บ่งชี้ว่าเป็นจังหวะเหมาะในการซื้อสินค้าชิ้นใหญ่ในครัวเรือนหรือไม่นั้น แม้จะเพิ่มขึ้น 0.1% แตะที่ระดับ 90.9 ก็ยังถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับในอดีต