ข้อมูลเบื้องต้นจากธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) ที่เปิดเผยวันนี้ (20 ก.พ.) ระบุว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของเกาหลีใต้ในเดือนม.ค.ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบกว่าหนึ่งปี อันเป็นผลมาจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่พุ่งสูงขึ้นและการอ่อนค่าของเงินวอน
ดัชนี PPI ซึ่งเป็นเครื่องชี้วัดสำคัญของเงินเฟ้อผู้บริโภค ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.6% ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า เร่งตัวขึ้นจากการเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนธ.ค.
สำนักข่าวยอนฮับรายงานว่า ตัวเลขในเดือนม.ค.นับเป็นการเพิ่มขึ้นสูงที่สุดในรอบ 17 เดือนนับตั้งแต่เดือนส.ค. 2566 ซึ่งขณะนั้นดัชนีเพิ่มขึ้น 0.8% เมื่อเทียบรายเดือน และยังเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3
เมื่อเทียบรายปี ดัชนี PPI เพิ่มขึ้น 1.7% ในเดือนที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 18
ดัชนี PPI ถือเป็นดัชนีชี้วัดสำคัญที่สามารถบ่งบอกถึงแนวโน้มของอัตราเงินเฟ้อได้ เพราะราคาที่ผู้ผลิตตั้งนั้นส่งผลโดยตรงต่อราคาขายปลีกที่ผู้บริโภคต้องจ่ายในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
ปัจจัยที่ทำให้ดัชนี PPI สูงขึ้นนั้นมาจากราคาน้ำมันดิบดูไบ ซึ่งเป็นราคาน้ำมันดิบอ้างอิงของเกาหลีใต้ ที่เพิ่มขึ้น 9.8% จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ 80.41 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในเดือนม.ค.
ในเดือนม.ค. ค่าเงินวอนอ่อนค่าลงไปอยู่ที่ 1,455.79 วอนต่อดอลลาร์สหรัฐ จาก 1,434.42 วอนต่อดอลลาร์สหรัฐในเดือนธ.ค. และเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เงินวอนอ่อนค่าลงถึง 10%
ด้านราคาสินค้าเกษตร ปศุสัตว์ และประมงเพิ่มขึ้น 4% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า เนื่องจากผลผลิตทางการเกษตรไม่ดีเท่าที่ควร ประกอบกับความต้องการสินค้าที่มากขึ้น ขณะที่ราคาสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 0.6% ส่วนราคาค่าไฟฟ้า ก๊าซ และสาธารณูปโภคอื่น ๆ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง สำหรับราคาในภาคบริการนั้น เพิ่มขึ้น 0.4%
ดัชนีราคาสินค้าที่จัดหาในประเทศ ซึ่งคำนวณจากราคาผู้ผลิตและราคานำเข้า เพิ่มขึ้น 0.6% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า
เจ้าหน้าที่ BOK กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า "ผลกระทบของราคาผู้ผลิตต่อเงินเฟ้อผู้บริโภคจะแตกต่างกันไปตามกลยุทธ์การกำหนดราคาของแต่ละบริษัทและปัจจัยอื่น ๆ ... แม้ในเดือนนี้ราคาน้ำมันจะปรับตัวลดลงและค่าเงินวอนแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย แต่คาดว่าตลาดยังคงมีความผันผวน"