เป้าหมายดึงดูดนักท่องเที่ยวจีน 9 ล้านคนของไทยในปีนี้ส่อแววไม่เป็นไปตามเป้า หลังเกิดเหตุการณ์ลักพาตัวนักแสดงชาวจีน ส่งผลให้ชาวจีนแผ่นดินใหญ่หันไปเที่ยวญี่ปุ่นและสิงคโปร์ที่ปลอดภัยกว่า
ข้อมูลจากบลูมเบิร์ก อินเทลลิเจนซ์ (Bloomberg Intelligence) ที่เปิดเผยวันนี้ (24 ก.พ.) ระบุว่า ยอดยกเลิกเที่ยวบินมาไทยเพิ่มขึ้น 94% ในเดือนม.ค.ที่ผ่านมา โดยนักท่องเที่ยวจีนส่วนใหญ่เลือกไปเล่นสกีและแช่น้ำพุร้อนที่ญี่ปุ่นในช่วงตรุษจีน ขณะที่การเดินทางมาไทยช่วงสองสัปดาห์แรกของเดือนก.พ.ยังต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
กรณีนักแสดงชาวจีน "หวัง ซิง" ถูกลักพาตัวผ่านไทยไปยังเมียนมา ส่งผลให้เกิดการยกเลิกทริปตรุษจีนครั้งใหญ่ แม้ไทยจะเร่งปราบปรามแก๊งอาชญากรรมที่ใช้ไทยเป็นทางผ่านในการลักลอบนำเหยื่อไปทำงานในศูนย์แก๊งคอลเซ็นเตอร์ แต่ก็ยังไม่สามารถคลายความกังวลของนักท่องเที่ยวชาวจีนได้
เอริค จู นักวิเคราะห์จากบลูมเบิร์ก อินเทลลิเจนซ์ ระบุว่า "ความกังวลเรื่องความปลอดภัยมีผลต่อการตัดสินใจของนักท่องเที่ยวจีน ... ข่าวในแง่ลบแพร่กระจายเร็วกว่ามาตรการด้านความปลอดภัยที่รัฐบาลดำเนินการ ทำให้การฟื้นฟูภาพลักษณ์เป็นเรื่องที่ท้าทาย"
ด้านยอดจองเที่ยวบินจากจีนไปญี่ปุ่นในไตรมาสแรกเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวเมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากค่าเงินเยนอ่อนค่าและราคาตั๋วเครื่องบินที่ถูกลง โดยเฉพาะเส้นทางเซี่ยงไฮ้-โตเกียวที่มีราคาเริ่มต้นเพียง 150 ดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ญี่ปุ่นแซงหน้าไทยขึ้นเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวชาวจีนในช่วงวันหยุดตรุษจีน 8 วัน นอกจากนี้ มาตรการยกเว้นวีซ่าของสิงคโปร์และมาเลเซียยังดึงดูดนักท่องเที่ยวจีนให้เบนเข็มจากไทยอีกด้วย
องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น (JNTO) เปิดเผยว่า มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าประเทศเมื่อเดือนม.ค.สูงถึง 980,000 คน เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากปีก่อน ขณะที่ไทยรายงานตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนถึงวันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมาอยู่ที่ 711,000 คน
ทั้งนี้ ทางด้านรัฐบาลไทยได้สั่งตัดไฟฟ้าที่จ่ายไปยังเมียนมา พร้อมร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งล่าสุดสามารถช่วยเหลือแรงงานต่างชาติได้กว่า 1,000 คน รวมถึงชาวจีนอีกหลายร้อยคน
อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามว่า การปราบปรามดังกล่าวจะสามารถฟื้นความเชื่อมั่นและดึงดูดนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งเป็นกลุ่มที่สร้างรายได้หลักให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยได้มากน้อยเพียงใด โดยภาคการท่องเที่ยวคิดเป็นสัดส่วน 12% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) และคิดเป็น 20% ของการจ้างงานทั้งประเทศ เป็นที่คาดการณ์ว่าภาคการท่องเที่ยวจะสร้างรายได้ราว 5.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้
จูระบุในรายงานว่า หากไทยไม่สามารถแก้ไขปัญหาความกังวลด้านความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวชาวจีนให้แล้วเสร็จภายในสิ้นไตรมาสนี้ จะทำให้เป้าหมายนักท่องเที่ยวจีน 8.8-9 ล้านคนในปีนี้เป็นไปได้ยาก และหากปัญหายังคงยืดเยื้อไปถึงปี 2568 อาจส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เข้าประเทศต่ำกว่า 7.5 ล้านคน
ด้านบริษัทไชน่า เทรดดิ้ง เดสก์ (China Trading Desk) ซึ่งติดตามตลาดการท่องเที่ยวจีนแผ่นดินใหญ่ เปิดเผยว่า แม้จะมีสัญญาณบ่งชี้ว่าความกังวลเริ่มคลี่คลาย แต่ยอดจองเที่ยวบินจากจีนมาไทยในเดือนมี.ค.ยังคงลดลง 10% เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ความต้องการเดินทางในเดือนเม.ย.และพ.ค.มีแนวโน้มเติบโตกว่า 3%
ซูบรามาเนีย ภัตต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารไชน่า เทรดดิ้ง เดสก์ กล่าวว่า "ความกังวลในการเดินทางมาไทยเริ่มผ่อนคลายลง ? แต่ตัวเลขนักท่องเที่ยวยังห่างไกลจากปี 2562 มาก ขณะที่มาเลเซียและสิงคโปร์มีการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจีนอย่างแข็งแกร่ง"
นายเทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรานันท์ นายกสมาคมโรงแรมไทย ชี้ว่า นอกเหนือจากการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์แล้ว ภาครัฐและผู้ประกอบการจำเป็นต้องพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ๆ นอกเหนือจากจุดหมายปลายทางยอดนิยมอย่างกรุงเทพฯ ภูเก็ต และเชียงใหม่
"แม้แต่คนไทยก็ยังชอบไปเที่ยวญี่ปุ่นมากกว่าภูเก็ต ... เราสูญเสียนักท่องเที่ยวคุณภาพที่เลือกไปประเทศที่ค่าเงินอ่อน เราต้องพัฒนาและนำเสนอจุดหมายปลายทางใหม่ ๆ ให้มากขึ้นเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว" นายเทียนประสิทธิ์กล่าว