ผลสำรวจทางธุรกิจที่เปิดเผยในวันนี้ (1 เม.ย.) บ่งชี้ว่า กิจกรรมภาคการผลิตของญี่ปุ่นในเดือนมี.ค.หดตัวลงในอัตราที่เร็วขึ้นแตะระดับต่ำสุดในรอบ 12 เดือน
ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของญี่ปุ่นจาก au Jibun Bank ประจำเดือนมี.ค. ปรับตัวลงมาอยู่ที่ 48.4 จาก 49.0 ในเดือนก.พ. นับเป็นเดือนที่ 9 ติดต่อกันที่ตัวเลขอยู่ต่ำกว่าระดับ 50
ทั้งนี้ ดัชนี PMI ที่ระดับสูงกว่า 50 บ่งชี้ว่ากิจกรรมทางธุรกิจอยู่ในภาวะขยายตัว ส่วนดัชนีที่ต่ำกว่า 50 บ่งชี้ว่าอยู่ในภาวะหดตัว
ปัจจัยหลักที่ทำให้การหดตัวรุนแรงขึ้นคืออุปสงค์ที่อ่อนแอลงทั้งจากในและต่างประเทศ นอกจากนี้ ความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าสหรัฐฯ ที่อาจทวีความรุนแรงก็ส่งผลกระทบต่อภาพรวมด้วย
ข้อมูลสำคัญจากผลสำรวจชี้ว่า ผลผลิตโรงงานลดลงเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน และเป็นการลดลงในอัตรารุนแรงที่สุดในรอบปี ขณะเดียวกัน คำสั่งซื้อใหม่ก็ยังคงหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 22 แล้ว
ผลสำรวจยังชี้ว่า ความต้องการที่ลดลงจากตลาดส่งออกหลักอย่างจีนและสหรัฐฯ เป็นสาเหตุให้ยอดคำสั่งซื้อใหม่เพื่อการส่งออกปรับตัวลงเล็กน้อย
แม้ว่ามุมมองของผู้ประกอบการต่ออุปสงค์ในอนาคตจะดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก.พ. (ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2563) แต่การฟื้นตัวยังเป็นไปอย่างช้า ๆ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกและสถานการณ์การค้า โดยเฉพาะความกังวลต่อผลกระทบจากภาษีนำเข้ารถยนต์ของสหรัฐฯ ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 3 เม.ย.นี้
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางภาพรวมที่หดตัว ยังมีสัญญาณบวกด้านการจ้างงาน โดยบริษัทต่าง ๆ มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นในอัตรามากที่สุดในรอบ 3 เดือน บางส่วนระบุว่าเป็นการจ้างเพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง และเพื่อเตรียมรองรับความต้องการที่อาจเพิ่มขึ้นในอนาคต
ถึงกระนั้น ผู้ผลิตยังคงเผชิญกับแรงกดดันด้านต้นทุนที่สูงขึ้นอย่างมาก ทั้งจากค่าแรง วัตถุดิบ พลังงาน และค่าขนส่ง ซ้ำเติมด้วยอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนแอ ซึ่งต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นนี้ ประกอบกับราคาขายสินค้าที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วยนั้นสะท้อนว่า แรงกดดันด้านเงินเฟ้อในภาคการผลิตยังคงอยู่ในระดับสูง