องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) รายงานวันนี้ (4 เม.ย.) ว่า ราคาโภคภัณฑ์อาหารโลกขยับขึ้นเล็กน้อยในเดือนมี.ค. เนื่องจากราคาน้ำมันพืชที่พุ่งสูงขึ้นช่วยชดเชยการลดลงของราคาธัญพืชและน้ำตาล
ดัชนีราคาอาหาร FAO ซึ่งติดตามสินค้าโภคภัณฑ์อาหารที่มีการซื้อขายระหว่างประเทศ เฉลี่ยอยู่ที่ 127.1 จุดในเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 126.8 จุดในเดือนก.พ.
แม้ว่าดัชนีในเดือนมี.ค.จะสูงกว่าปีก่อนหน้า 6.9% แต่ก็ยังคงต่ำกว่าระดับสูงสุดที่เคยทำไว้เมื่อเดือนมี.ค. 2565 ถึง 20.7% ซึ่งเป็นช่วงหลังจากที่รัสเซียบุกยูเครนเต็มรูปแบบ
การปรับตัวขึ้นนี้ได้รับแรงหนุนหลักจากดัชนีราคาน้ำมันพืช ซึ่งพุ่งขึ้น 3.7% จากเดือนก.พ. และสูงขึ้น 23.9% เมื่อเทียบรายปี เนื่องจากความต้องการนำเข้าน้ำมันปาล์ม น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันเรปซีด และน้ำมันทานตะวัน ยังคงแข็งแกร่ง
ในทางกลับกัน ดัชนีราคาธัญพืชลดลง 2.6% จากเดือนก่อน และต่ำกว่าปีก่อน 1.1% เป็นผลจากราคาข้าวสาลีที่ปรับลดลงหลังความกังวลเรื่องสภาพการเพาะปลูกคลี่คลาย รวมถึงราคาข้าวโพด บาร์เลย์ และข้าวฟ่างที่ลดลงด้วย ส่วนดัชนีราคาข้าวลดลง 1.7% จากความต้องการนำเข้าที่ซบเซา และอุปทานการส่งออกที่มีอยู่มาก
ราคาน้ำตาลลดลง 1.6% เมื่อเทียบรายเดือน จากสัญญาณความต้องการทั่วโลกที่อ่อนตัวลง ประกอบกับฝนที่ตกทางตอนใต้ของบราซิลช่วยหนุนแนวโน้มผลผลิต อย่างไรก็ตาม ความกังวลต่อภาพรวมผลผลิตในบราซิลและอินเดียยังจำกัดการปรับลดลงของราคา
ดัชนีราคาเนื้อสัตว์ขยับขึ้น 0.9% โดย FAO ชี้ว่า ส่วนหนึ่งมาจากราคาเนื้อสุกรในยุโรปที่สูงขึ้น หลังเยอรมนีได้รับสถานะปลอดโรคปากและเท้าเปื่อยกลับคืนมา ขณะที่ราคาเนื้อสัตว์ปีกส่วนใหญ่ทรงตัว แม้มีการระบาดของไข้หวัดนกในหลายประเทศผู้ผลิต ส่วนดัชนีราคาผลิตภัณฑ์นมไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนก.พ.