ดัชนีราคาผู้ผลิต (CGPI) ของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเครื่องชี้วัดระดับราคาสินค้าและบริการที่ผู้ประกอบการเรียกเก็บระหว่างกัน เร่งตัวขึ้นเป็น 4.2% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบกับปีก่อน สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 3.9% และขยับขึ้นจาก 4.1% ในเดือนก.พ. ตัวเลขเงินเฟ้อค้าส่งนี้สะท้อนว่าแรงกดดันด้านต้นทุนของภาคธุรกิจยังคงสูงอยู่
ตัวเลขที่สูงกว่าคาดนี้ทำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ตัดสินใจเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยในอนาคตได้ยากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อต้องชั่งน้ำหนักระหว่างแรงกดดันเงินเฟ้อในประเทศ กับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นจากนโยบายภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ
ข้อมูลจาก BOJ ชี้ว่า ราคาสินค้าหลายประเภทปรับตัวสูงขึ้น เช่น ต้นทุนอาหารเพิ่มขึ้น 3.1% เมื่อเทียบกับปีก่อน และราคาปิโตรเลียมและถ่านหินพุ่งขึ้นถึง 8.6%
ภาวะเงินเฟ้อที่ยังสูงอยู่นี้ยิ่งเพิ่มความท้าทายให้กับบริษัทญี่ปุ่นที่กำลังกังวลกับความไม่แน่นอนจากนโยบายเก็บภาษีสินค้านำเข้าของปธน.ทรัมป์ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่พึ่งพาการส่งออกเป็นอย่างมาก
ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้ เงินเฟ้อผู้บริโภคที่สูงกว่าเป้าหมาย 2% ของ BOJ มาเกือบ 3 ปี ประกอบกับค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น จะทำให้หลายฝ่ายคาดว่า BOJ อาจขึ้นดอกเบี้ยต่อไป (ปัจจุบันอยู่ที่ 0.5%) แต่ความไม่แน่นอนเรื่องภาษีครั้งใหม่ ก็ทำให้ทิศทางนโยบายในอนาคตดูไม่ชัดเจน
คาซูโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการ BOJ กล่าวเมื่อวันพุธ (9 เม.ย.) ว่า BOJ ต้องจับตาดูแนวโน้มเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด ซึ่งอาจเป็นการส่งสัญญาณว่าอาจชะลอการขึ้นดอกเบี้ยชั่วคราว เนื่องจากผลกระทบของภาษีสหรัฐฯ ที่มีต่อตลาด
อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านหนึ่ง ดัชนีราคาสินค้านำเข้า (คิดเป็นเงินเยน) กลับลดลง 2.2% ในเดือนมี.ค.เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งลดลงมากกว่าเดือนก.พ.ที่ลดลง 0.9%
นักวิเคราะห์บางส่วนมองว่า เงินเฟ้อค้าส่งน่าจะชะลอตัวลงในอนาคต เพราะต้นทุนสินค้าโภคภัณฑ์ลดลงและเงินเยนแข็งค่าขึ้น โดยเชื่อว่าอาจช่วยให้เงินเฟ้อผู้บริโภคชะลอตัวลงตามไปด้วย