ข้อมูลเบื้องต้นจากฝั่งนายจ้างในสหราชอาณาจักรที่ส่งให้กรมสรรพากร เปิดเผยในวันนี้ (15 เม.ย.) ว่า จำนวนลูกจ้างในระบบลดลงถึง 78,000 คนในเดือนมี.ค. นับเป็นการปรับลดลงครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของโควิด-19 เมื่อปี 2563 ข้อมูลนี้ยิ่งตอกย้ำแนวโน้มขาลง เมื่อตัวเลขของเดือนก.พ.ก็ถูกปรับแก้ จากเดิมที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 21,000 ตำแหน่ง กลายเป็นลดลง 8,000 ตำแหน่ง
ด้านหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จาก KPMG UK ชี้ว่า การเพิ่มขึ้นของต้นทุนด้านแรงงานในเดือนเม.ย. อันเป็นผลมาจากการปรับขึ้นเงินสมทบประกันสังคมที่ผลักดันโดยรัฐมนตรีคลัง ราเชล รีฟส์ น่าจะส่งผลให้การเติบโตของค่าจ้างชะลอตัวลงในไม่ช้า
นอกจากนี้ การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเกือบ 7% ในเดือนนี้ ก็อาจเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจจ้างงานของภาคธุรกิจ
ด้านสำนักงานสถิติแห่งชาติของสหราชอาณาจักร (ONS) เปิดเผยว่า ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2568 จำนวนตำแหน่งงานว่างลดลงมาอยู่ที่ 781,000 ตำแหน่ง ซึ่งต่ำกว่าระดับก่อนเกิดการระบาดใหญ่ของโควิด-19 เป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 4 ปี
ONS ระบุว่า ค่าจ้างเฉลี่ยรายสัปดาห์ (ไม่รวมโบนัส) ในช่วงสามเดือนสิ้นสุดเดือนก.พ. ยังคงเติบโต 5.9% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เร่งตัวขึ้นเล็กน้อยจากอัตรา 5.8% (ตัวเลขปรับปรุงใหม่) ในช่วงสามเดือนสิ้นสุดเดือนม.ค.
ส่วนค่าจ้างภาคเอกชน (ไม่รวมโบนัส) ในช่วงสามเดือนสิ้นสุดเดือนก.พ. ซึ่งเป็นตัวชี้วัดแรงกดดันเงินเฟ้อในประเทศที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) จับตา ก็เพิ่มขึ้น 5.9% เมื่อเทียบรายปี คงที่จากอัตราในช่วงสามเดือนสิ้นสุดเดือนม.ค.
สำหรับอัตราการว่างงานอย่างเป็นทางการ ONS รายงานว่ายังคงอยู่ที่ 4.4% แต่ย้ำว่าข้อมูลนี้มาจากการสำรวจที่กำลังอยู่ในระหว่างการปรับปรุงครั้งใหญ่ และอาจไม่สะท้อนภาพตลาดแรงงานที่แม่นยำนักในปัจจุบัน