นายคาซู ซากาอิ ผู้อำนวยการทั่วไป แผนกกลยุทธ์และและนโยบายของเอดีบีระบุในแถลงการณ์ฉบับหนึ่งว่า “ความมั่งคั่งในอนาคตของเอเชียจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อประเทศต่างๆเดินหน้าต่อสู้กับความยากจนและปัญหาความขาดแคลนในด้านอื่นๆ และปัญหาเหล่านี้จะต้องมีการดำเนินงานเชิงรุกในระดับรัฐ"
“ในขณะที่เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (MDG) จะครบกำหนดในปี 2558 รายงานการศึกษาฉบับนี้ได้นำเสนอการแจ้งเตือนในช่วงเวลาที่เหมาะสมในเรื่องเป้าหมายที่ยังไม่บรรลุผลในภูมิภาคและมาตรการที่จำเป็นเพื่อขจัดปัญหาความขาดแคลนโดยรวม" นายซากาอิระบุ
ทั้งนี้ ผลการศึกษาดังกล่าวภายใต้หัวข้อ Ending Asian Deprivations บ่งชี้ว่า ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจเอเชียจะขยายตัวในหลายประเทศ แต่ยังมีประชาชนจำนวนกว่า 660 ล้านคนที่ยังมีดำรงชีวิตด้วยความยากจนอย่างมาก และมีรายได้ไม่ถึง 1.25 ดอลลาร์ต่อวัน
รายงานระบุว่า หากนับจำนวนประชากรที่เปราะบางอย่างมากและสามารถกลับไปสู่ภาวะยากจนได้อย่างไม่ยากนั้น ตัวเลขอาจจะเพิ่มขึ้นสูงถึง 1.5 พันล้านคน หรือเกือบครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรในเอเชีย
นอกจากนี้ ผลการศึกษายังพบว่า ประเทศเอเชียส่วนใหญ่ไม่มีแนวโน้มที่จะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษภายในปี 2558 เนื่องจากยังขาดแคลนสุขอนามัยขั้นพื้นฐาน, เด็กที่มีน้ำหนักไม่ต่ำกว่าเกณฑ์อีกจำนวนมาก และอัตราการเสียชีวิตของเด็กทารกและมารดาที่อยู่ในระดับสูง
“ผลการศึกษาดังกล่าวทำให้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับรูปแบบการพัฒนาในปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับการเติบโตในระดับสูงสุด หากการพัฒนาดังกล่าวยังไม่ช่วยให้ประชาชนจำนวนมากในเอเชียหลุดพ้นจากความยากจนและความหิวโหยไปได้" รายงานระบุ
การศึกษาดังกล่าวแนะนำว่า รัฐบาลประเทศเอเชียจำเป็นต้องส่งเสริมการพัฒนาทักษะความสามารถ, โอกาสด้านการศึกษาที่มีคุณภาพ และแรงจูงใจสำหรับผู้ประกอบการ มาตรการต่างๆเหล่านี้จะต้องดำเนินการร่วมกับภาคเอกชนและชุมชน ขณะที่เจ้าหน้าที่กำหนดนโยบายก็ต้องส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก เนื่องจากธุรกิจเหล่านี้ช่วยให้มีการจ้างงานประชาชนจำนวนมาก สำนักข่าวซินหัวรายงาน