จับตา 5 วิทยากรในการประชุมแจ็คสัน โฮล ถกงานวิจัยยุทธศาสตร์เฟดถอน QE โดยไม่กระทบตลาด

ข่าวต่างประเทศ Friday August 23, 2013 11:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ประเด็นสำคัญในการประชุมที่แจ็คสัน โฮล ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 23-24 ส.ค.นี้ นอกเหนือไปจากประเด็นที่ยังคงเป็นคำถามค้างคาที่ว่า นายแลร์รี่ ซัมเมอร์ส อดีตรมว.คลังสหรัฐ หรือนางเจเน็ต เยลเลน รองประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเข้ามาทำหน้าที่แทนเบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐคนปัจจุบันแล้ว

ประเด็นที่น่าสนใจในการประชุมครั้งนี้ก็คือ ประเด็นเรื่องการกำหนดยุทธศาสตร์ในการถอนมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ของธนาคารกลางสหรัฐโดยไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดเงิน

เฟดสาขาแคนซัส ซึ่งเป็นเจ้าภาพอย่างเป็นทางการของการประชุม ได้เชิญนักวิชาการระดับหัวกะทิมาร่วมหารือถึงผลการวิจัยเชิงระบบกับนโยบายเงินตรา ซึ่งงานวิจัยเหล่านี้มักจะมีผลต่อนโยบายในเวลาต่อมา โดยจะเห็นได้จากตัวอย่างปีที่แล้วที่ไมเคิล วู้ดฟอร์ด จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียได้นำเสนอรายงานเชิงเทคนิคที่ชี้แนะว่า การส่งสัญญาณชี้นำล่วงหน้าจากเฟดนั้น น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่าการซื้อสินทรัพย์

คริส โดว์ซีย์ นักเศรษฐศาสตร์ของโกลด์แมน แซคส์ แอนด์ โค กล่าวว่า รายงานดังกล่าวนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแนวคิดในเรื่องผลประโยชน์ที่ได้จากวิธีการส่งสัญญาณชี้นำล่วงหน้าและการซื้อสินทรัพย์

วิทยากร 5 ท่านที่จะเป็นสีสันในการหารือเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ในการถอนมาตรการ QE ในการประชุมแจ็คสัน โฮล ในปีนี้ รวมทั้งประเด็นที่จะมีการหารือกัน มีดังต่อไปนี้

1. โรเบิร์ต ฮอลล์ ศาสตราจารย์วัย 70 ปีจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ได้รับเกียรติให้กล่าวสุนทรพจน์เป็นคนแรกของการประชุม ซึ่งปกติสุนทรพจน์แรกของการประชุมแจ็คสัน โฮล จะเป็นของประธานเฟด

ฮอลล์เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่มุมมองของเขาอาจจะทั้งสนับสนุนกลุ่มที่สนับสนุนและไม่เห็นด้วยกับนโยบายการซื้อสินทรัพย์ ผลงานของเขามุ่งเน้นไปที่ปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่ออัตราดอกเบี้ยระยะสั้นอยู่ที่ 0% หลังจากที่อัตราดอกเบี้ยของเฟดอยู่ใกล้เคียงกับระดับดังกล่าวมาเป็นเวลานานหลายปี

2. อาร์วินด์ คริชนาเมอร์ที ศาสตราจารย์ด้านการเงินจากนอร์ทเวสเทิร์น ร่วมด้วยทีมงานอย่างแอนเน็ท วิสซิง-เจอร์เกนสัน ได้ทำผลงานที่ดีเกี่ยวกับผลพวงที่เกิดขึ้นกับอัตราดอกเบี้ยระยะยาวอันเนื่องมาจากการซื้อพันธบัตร คริชนาเมอร์ทีได้เสนองานวิจัยล่าสุดของเขาเกี่ยวกับเรื่องการซื้อพันธบัตร ส่วนผลงานที่ผ่านมาของนักวิชาการคู่นี้ก็เคยชี้ให้เห็นว่า การซื้อสินทรัพย์ที่เกี่ยวกับการจำนองของเฟดนั้น โดว์ซีย์จากโกลด์แมน แซคส์ มองว่า การดำเนินการดังกล่าวส่งผลอย่างอึกทึกครึกโครมมากกว่าที่จะทำเงิน เมื่อเทียบกับการซื้อตราสาร ซึ่งแนวคิดดังกล่าวอาจจะชี้ให้เห็นว่า การชะลอการซื้อตราสารมากกว่าการซื้อหลักทรัพย์ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยสนับสนุนนั้น เป็นไปอย่างไม่เหมาะสม

3. เฮเลน เรย์ ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ของลอนดอน บิสิเนส สคูล ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินระหว่างประเทศ จะหารือในเรื่องกระแสเงินทุนหมุนเวียนแบบข้ามแดน ก่อนหน้านี้ เรย์เป็นนักวิชาการหญิงคนแรกที่ได้รับรางวัล Yrjo Jahnsson Award สำหรับนักเศรษฐศาสตร์ชาวยุโรปที่อายุไม่ถึง 45 ปี เบอร์นันเก้ ยังเคยว่าจ้างศาสตราจารย์เรย์ในสมัยที่เบอร์นันเก้รับตำแหน่งประธานคณะด้านเศรษฐกิจที่มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน

4. นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นจะเป็นวิทยากรอีกท่าน ซึ่งไม่ใช่นักวิชาการที่เข้าร่วมการประชุมแจ็คสัน โฮล ซึ่งผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นจะได้มาเปิดเผยถึงมุมมองที่แตกต่างในขณะที่ญี่ปุ่นต้องเผชิญกับภาวะเงินฝืดมาเป็นเวลานานถึง 20 ปี ทั้งนี้ มีสัญญาณว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะหลุดพ้นจากภาวะถดถอย ผู้เข้าร่วมการประชุมจะได้รับฟังมุมมองที่มีต่อนโยบายของผู้ว่าบีโอเจในการประชุมวันเสาร์ที่จะถึงนี้

5. สแตนลีย์ ฟิชเชอร์ อดีตผู้บริหารของธนาคารกลางอิสราเอล ซึ่งมีประสบการณ์ในการทำงานเกี่ยวกับวิกฤตการเงินมาตั้งแต่ปี 1970 และยังเคยทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกของเบอร์นันเก้มาก่อน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ