ในแถลงการณ์ที่เปิดเzยหลังเสร็จสิ้นการประชุมสุดยอดที่นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ประเทศรัสเซีย ผู้นำกลุ่มจี-20 ยังเน้นย้ำว่ากลุ่มประเทศอุตสาหกรรมควรส่งเสริมการเสริมความแข็งแกร่งทางการคลังอย่างยืดหยุ่นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย เช่น วิกฤตหนี้ยูโรโซน
อย่างไรก็ตาม สมาชิกกลุ่มจี-20 ไม่ได้ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการที่จะดำนินการ ซึ่งตอกย้ำถึงความยากลำบากในการหนุนเศรษฐกิจ ขณะที่ปรับปรุงฐานะการเงินของประเทศไปควบคู่กัน
หนึ่งในความท้าทายสำคัญที่จี-20 กำลังเผชิญอยู่ก็คือ “การขยายตัวที่ชะลอลงในประเทศเกิดใหม่บางประเทศ ซึ่งสะท้อนถึงผลกระทบของกระแสเงินทุนที่ผันผวน ภาวะการเงินที่ตึงตัว และความอ่อนไหวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์
แถลงการณ์ระบุว่า ขณะที่มีความวิตกมากขึ้นว่าการชะลอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจนำไปสู่การอ่อนค่าสกุลเงินและเงินเฟ้อในกลุ่มประเทศเกิดใหม่นั้น ธนาคารกลางในประเทศอุตสาหกรรมได้มีพันธสัญญาว่าการเปลี่ยนแปลงในอนาคตต่อการกำหนดนโยบายการเงินจะยังคงมีการพิจารณาอย่างระมัดระวังและสื่อสารกันอย่างชัดเจน
เจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นรายหนึ่งกล่าวว่า ที่ประชุมยังมีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจโลกจากความขัดแย้งประเด็นซีเรีย ซึ่งได้ฉุดตลาดหุ้นและผลักดันราคาน้ำมันให้พุ่งสูง แต่แถลงการณ์ไม่ได้ระบุถึงประเด็นซีเรีย
สื่อท้องถิ่นรายงานว่า แม้มีการหารือกันหลายชั่วโมง แต่บรรดาผู้นำก็ยังคงมีความคิดเห็นแตกต่างกันเกี่ยวกับข้อเรียกร้องของสหรัฐที่จะให้มีปฏิบัติการทางทหารเพื่อตอบโต้รัฐบาลซีเรียของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด ที่ถูกกล่าวหาว่าใช้อาวุธเคมีในการสังหารประชาชนในเขตชานกรุงดามัสกัสเมื่อปลายเดือนส.ค.
สำนักข่าวเกียวโดยรายงานว่า กลุ่มจี-20 ซึ่งมีสัดส่วนกว่า 80% ของจีดีพีทั่วโลกนั้น ประกอบไปด้วย อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย บราซิล อังกฤษ แคนาดา จีน ฝรั่งเศส เยอรมนี อินเดีย อินโดนีเซีย อิตาลี ญี่ปุ่น เม็กซิโก รัสเซีย ซาอุดิอาระเบีย แอฟริกาใต้ เกาหลีใต้ ตุรกี สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป