ITC ระบุในแถลงการณ์ว่า รายการผลิตภัณฑ์ที่ถูกดำเนินการสืบสวนได้แก่ ยางรถยนต์ที่มีรูปแบบดอกยาง และแก้มยางในบางชนิด
บริษัท Toyo Tire and Rubber Company ของญี่ปุ่นและบริษัทสหรัฐที่อยู่ในเครือได้ยื่นฟ้องต่อ ITC เมื่อวันที่ 14 ส.ค. โดยอ้างว่ายางรถยนต์จากบริษัทสหรัฐทั้งหมด 14 แห่ง จีน 7 แห่ง และไทยอีก 1 แห่งได้ละเมิดสิทธิบัตรและฝ่าฝืนกฏหมาย Tariff Act of 1930 มาตรา 337 และเรียกร้องให้ ITC ออกคำสั่งกีดกันและระงับคำสั่งซื้อ
การสืบสวนในครั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า ITC ได้ลงมติตัดสินในกรณีดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยภายใน 45 วัน ITC จะกำหนดวันสิ้นสุดการสอบสวนอีกครั้ง
หากคำร้องได้รับการอนุมัติ ทางคณะกรรมการจะออกคำสั่งระงับการนำเข้าผลิตภัณฑ์ต้องสงสัยดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการทบทวนคดี 60 วันให้หลัง รัฐบาลสหรัฐมีสิทธิยับยั้งคำสั่งดังกล่าวได้
การดำเนินการสืบสวนในมาตรา 337 จะเน้นไปที่คดีละเมิดสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้า ตลอดจนกรณีที่มีการนำข้อมูลไปใช้อย่างไม่เหมาะสมอย่างเช่น ข้อมูลความลับทางการค้า โฆษณาหลอกลวงผู้บริโภค และการฝ่าฝืนกฎหมายปองกันการผูกขาด
ด้วยการดำเนินงานที่รวดเร็วกว่า มีค่าใช้จ่ายถูกกว่า และมีแนวโน้มในการชนะคดีสิทธิบัตรมากกว่ายื่นฟ้องในชั้นศาล บรรดาบริษัทต่างๆจึงหันมาใช้อำนาจของ ITC ในการพิจารณาคดีสิทธิบัตรเพื่อกำจัดคู่แข่ง ในช่วงปี 2533 ITC มีคดีที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 337 อยู่ไม่ถึง 12 รายต่อปี แต่พอมาถึงปี 2553-2555 จำนวนคดีโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 55 คดีต่อปี สำนักข่าวซินหัวรายงาน