In Focusโครงการนำร่อง “เขตการค้าเสรีเซี่ยงไฮ้" กับการปรับโฉมเศรษฐกิจจีนสู่รูปแบบใหม่

ข่าวต่างประเทศ Wednesday October 2, 2013 11:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

“เขตการค้าเสรีนำร่อง"(Free Trade Zone: FTZ) ของจีนก็ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการแล้วในเซี่ยงไฮ้เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา(29 ก.ย.) หลังจากผ่านการอนุมัติจากสภาแห่งรัฐจีนเมื่อวันที่ 3 ก.ค. โดยในพิธีเปิด นายหาน เจิ้ง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำนครเซี่ยงไฮ้ได้มอบใบอนุญาตให้แก่บริษัท ไมโครซอฟท์ และเบสทีวี ในฐานะที่เป็นบริษัทลงทะเบียนแห่งแรกจาก 36 บริษัท ซึ่งจะเปิดตัวธุรกิจในเขตการค้าเสรี FTZ

โครงการทดลองนำร่อง “เขตการค้าเสรีเซี่ยงไฮ้ (Free Trade Zone)"

แม้ว่าภาคผลิต และการลงทุนของจีนจะปรับตัวดีขึ้นในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา แต่จีนก็ยังเผชิญกับปัญหาการผลิตส่วนเกิน และปัจจัยเสี่ยงด้านการเงินเช่น หนี้สินจำนวนมากของรัฐบาล และระบบธนาคารเงาที่กำลังครอบงำประเทศ ซึ่งส่งผลให้เกิดการเรียกร้องให้คณะผู้บริหารประเทศพัฒนาเศรษฐกิจ และปฏิรูปการตลาดอย่างจริงจังตั้งแต่เดือนมี.ค. ที่ผ่านมา โดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กล่าวว่า จีนจะต้องใช้นโยบายทางการเมือง และความรอบคอบในการดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจยิ่งกว่าครั้งใดๆ เพื่อเอาชนะภาคสถาบันที่กำลังฉุดรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจจีน ขณะที่นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียงระบุว่า การพัฒนาเศรษฐกิจให้ทันสมัยจะไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ หากปราศจากการปฏิรูป และการเปิดกว้าง โดยเขตการค้าเสรีนำร่อง FTZ ถือเป็นหนึ่งในแนวทางใหม่ๆของการเปิดประเทศสู่โลกภายนอกมากขึ้น ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐบาลคาดว่า จะมีการนำโครงการไปปรับใช้กับเมืองอื่นๆของจีน หากเขต FTZ ประสบความสำเร็จในเซี่ยงไฮ้

เขตการค้าเสรีดังกล่าวเป็นโครงการทดลองนำร่องเพื่อส่งเสริมการปฏิรูปเศรษฐกิจของจีนสู่การขยายตัวอย่างยั่งยืนโดยพึ่งพาการบริโภค และภาคบริการภายในประเทศแทนการส่งออก และการลงทุนของรัฐบาล มีนโยบายหลัก 5 ด้านคือ การปรับเปลี่ยนบทบาทของรัฐบาลในเศรษฐกิจ ผ่อนคลายข้อกำหนดด้านการลงทุนสำหรับต่างประเทศ ขยายธุรกิจภาคบริการเพื่อส่งเสริมการค้าต่างประเทศ ปฏิรูปด้านการเงินอย่างจริงจัง และปรับปรุงระบบภาษี และระเบียบข้อบังคับต่างๆ

เขตการค้าเสรี (FTZ) ครอบคลุมพื้นที่ 29 ตารางกิโลเมตรในเซี่ยงไฮ้ และสร้างขึ้นตามรูปแบบธุรกิจการค้าเสรีในบริเวณศูนย์กลางเศรษฐกิจที่สำคัญๆของจีนได้แก่ เขตการค้าเสรีไว่เกาเฉียว นิคมโลจิสติกส์การค้าเสรีไว่เกาเฉียว ท่าเรือการค้าเสรีหยางซาน และเขตการค้าเสรีครบวงจรสนามบินผู่ตง โดยมีจุดประสงค์เพื่อยกระดับพื้นที่ดังกล่าวสู่มาตรฐานความเป็นสากลทั้งด้านความสะดวกในการลงทุน และการค้า การแลกเปลี่ยนสกุลเงินอย่างเสรี การบริหารจัดการธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการสร้างสภาพแวดล้อมทางกฎหมายที่แข็งแกร่ง

แผนการระบุว่า “ภายใต้เงื่อนไขที่สามารถควบคุมความเสี่ยงได้นั้น จีนจะสร้างเงื่อนไขเพื่อทดสอบการแปลงสกุลเงินหยวนภายใต้บัญชีทุน, อัตราดอกเบี้ยที่กำหนดโดยตลาด และการใช้เงินหยวนข้ามพรมแดนในเขตการค้าเสรี"

การผ่อนคลายข้อจำกัดของการลงทุนด้วยเงินหยวนถือเป็นการตอกย้ำคำมั่นของนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ซึ่งเคยกล่าวว่า จะเปิดโอกาสให้แรงงานในตลาดเข้ามาในภาคเศรษฐกิจมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ลดบทบาทของรัฐบาลลง โดยเงินหยวนถือเป็นสกุลเงินที่มีการซื้อขายมากที่สุดเป็นอันดับ 9 ของโลกในเดือนเม.ย. ปี 2556 ซึ่งมีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ย 1.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อวัน

ผู้เชี่ยวชาญจากธนาคาร Agricultural Bank of China International Securities ซึ่งอยู่ในฮ่องกงแสดงความเห็นว่า การทดลองแปลงสกุลเงินหยวนในเขตการค้าเสรีเซี่ยงไฮ้จะเป็นการก้าวย่างที่ยิ่งใหญ่ในการปฏิรูปด้านการเงินของจีน ซึ่งแสดงให้เห็นว่านายกฯหลี่มุ่งมั่นที่จะยกระดับเศรษฐกิจของประเทศ

เขต FTZ จะอนุญาตให้ตลาดเป็นผู้กำหนดราคาสินทรัพย์ที่นำมาแปรรูปเป็นหลักทรัพย์ของสถาบันการเงินต่างๆ จัดตั้งกลไกด้านการแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างประเทศที่สอดคล้องกับการค้า และการลงทุน ตลอดจนส่งเสริมให้บริษัทข้ามชาติต่างๆเข้ามาเปิดสำนักงานทั้งในระดับภูมิภาค และระดับโลก

ขณะเดียวกัน FTZ จะผลักดันสถาบันการเงินทั้งใน และนอกประเทศอย่างเต็มที่ โดยอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์จีนสามารถให้บริการธุรกรรมทางการเงินแก่ชาวต่างชาติ อีกทั้งยังส่งเสริมสถาบันการเงินต่างประเทศให้เข้ามาเปิดสำนักงาน หรือร่วมทุนกับธนาคารที่มีศักยภาพเหมาะสม

ทั้งนี้ รัฐบาลจีนจะระงับ หรือผ่อนคลายการควบคุมศักยภาพของผู้ลงทุน สัดส่วนการถือครองหุ้น และข้อกำหนดอื่นๆด้านการลงทุนที่มีมาก่อนหน้านี้ โดยนักลงทุนในเขตการค้าเสรีสามารถดำเนินธุรกิจได้โดยไม่ต้องรอการอนุมัติจากหน่วยงานรัฐบาล ตราบที่ได้ทำข้อตกลงอย่างเป็นทางการตามความเป็นจริง และไม่ดำเนินธุรกิจใดๆที่อยู่ในรายการต้องห้าม

ส่วนบริษัทต่างชาติจะสามารถลงทุนในธุรกิจกว่า 18 รายการ อาทิ การสื่อสารโทรคมนาคมบางประเภท โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องรับรองความปลอดภัยของข้อมูล เช่น การเปิดศูนย์ประสานงานบริการ (call center) การให้บริการอินเทอร์เน็ต และเทคโนโลยีด้านซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ รวมถึงสามารถผลิต และจัดจำหน่ายอุปกรณ์วิดีโอเกมที่มีเนื้อหาเหมาะสม เช่นเดียวกับธุรกิจท่องเที่ยว และความบันเทิง ตลอดจนสามารถจัดตั้งสถาบันด้านศิลปะ และการแสดง ไม่ว่าจะเป็นบริษัทของต่างชาติ หรือเกิดจากความร่วมมือระหว่างจีนกับต่างชาติ นอกจากนี้ บริษัทต่างชาติอาจจับมือกับพันธมิตรจีน เพื่อเปิดอบรมด้านการศึกษา และวิชาชีพ รวมถึงประกันสุขภาพ ตลอดจนจัดตั้งสถาบันการแพทย์ของตัวเอง ขณะที่ธุรกิจการสร้างบ้านพักตากอากาศ และสวนสนุกอยู่ในรายการต้องห้ามของรัฐบาล

แผนการยังระบุว่า จะมีการปรับใช้นโยบายด้านภาษีที่เอื้อต่อการลงทุน และการค้าใน FTZ และบริษัทที่ดำเนินธุรกิจนำเข้าเครื่องจักร และอุปกรณ์สำหรับการผลิตจะได้รับการยกเว้นภาษีอีกด้วย

นายเสิ่น หมิงเกา หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากซิตี้แบงก์ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวว่า “จุดเด่นของเขตการค้าเสรีเซี่ยงไฮ้ก็คือ การเป็นเวทีเปิด เพื่อให้บรรดาบริษัทจีน และต่างชาติสามารถแข่งขันกันเสมือนอยู่ในสนามทดลอง"

ผลพวง-ผลประโยชน์-ผลกระทบ

  • ตลาดอสังหาริมทรัพย์ขยายตัว

อุปสงค์สำหรับสำนักงาน และคลังสินค้าในเขต FTZ ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้ที่อยู่อาศัย และศูนย์การค้าต่างๆมีจำนวนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยบริษัท Century 21 China Real Estate เปิดเผยว่าในช่วง 2 สัปดาห์แรกของเดือนก.ย. ซึ่งเป็น 2 สัปดาห์ก่อนการเปิดตัวเขตการค้าเสรีเซี่ยงไฮ้อย่างเป็นทางการนั้น ราคาบ้านในเขตไว่เกาเฉียว ซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือ เพิ่มขึ้นแตะที่ 22,000 หยวนต่อตารางเมตร หรือพุ่งขึ้นประมาณ 50% จากช่วงเวลาเดียวกันของเดือนส.ค.

“ผู้ซื้อที่อยู่อาศัยจำนวนหนึ่งเชื่อมั่นว่า สิ่งที่ยิ่งใหญ่กำลังจะเกิดขึ้น" นายโจ โจว หัวหน้านักวิจัยเกี่ยวกับจีนตะวันออกจาก Jones Lang LaSalle ซึ่งเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำกล่าว “ความคาดหวังในสิ่งที่จะเกิดขึ้น ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องเป็นนโยบาย ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ในบริเวณดังกล่าว" ดังนั้น ตลาดอสังหาริมทรัพย์จะเป็นผู้รับผลประโยชน์หลักจากการจัดตั้งเขต FTZ ในครั้งนี้

  • ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ

นายหวัง ซินขุย ผู้อำนวยการสำนักงานที่ปรึกษาของรัฐบาลท้องถิ่นเมืองเซี่ยงไฮ้ แสดงความเห็นว่า เขต FTZ จะดึงดูดให้บรรดาบริษัทข้ามชาติเข้ามาก่อตั้งสำนักงานในพื้นที่ ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของจีนให้มากขึ้น เนื่องจากเมืองใหญ่หลายแห่งของจีนยังไม่มีศักยภาพในการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เพียงพอ เมื่อเทียบกับโตเกียว และสิงคโปร์

“จุดประสงค์ของแผนนำร่องดังกล่าวคือการสร้างพื้นที่ใหม่ที่มีความยืดหยุ่นแทนพื้นที่แบบดั้งเดิมซึ่งจำกัดอยู่แต่เฉพาะกับนโยบายพิเศษบางอย่างเท่านั้น" นายหวังเผยกับสำนักข่าวซินหัว

  • ส่งเสริมธุรกิจการดูแลสุขภาพ

แผนเขตการนำร่องระบุว่า นักลงทุนต่างชาติสามารถเปิดบริษัทประกันสุขภาพ หรือธุรกิจการดูแลสุขภาพในเขต FTZ คาดการณ์ว่า ผู้ให้บริการด้านสุขภาพชั้นนำจากทั่วโลกจะเข้ามาลงทุนในประเทศมากขึ้น และจะช่วยผลักดันการขยายตัวของอุตสาหกรรมประเภทดังกล่าว ตลอดจนช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้สูงขึ้น เนื่องจากภาคบริการด้านสุขภาพของจีนในปัจจุบันพัฒนาไปอย่างเชื่องช้ามาก รัฐบาลจึงได้พยายามปฏิรูปตลาดโรงพยาบาลมาตั้งแต่ปี 2552 โดยอนุญาตให้บริษัทต่างชาติสามารถประกอบธุรกิจประเภทนี้ได้อย่างอิสระในจีน

นักวิเคราะห์กล่าวว่า การส่งเสริมธุรกิจประกันสุขภาพจะช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยจีนจะกลายเป็นจุดหมายที่น่าดึงดูดใจสำหรับชาวต่างชาติที่ต้องการรักษาโรค และเสียค่าใช้จ่ายไม่สูงนัก

  • เพิ่มอำนาจทางเศรษฐกิจของจีน

โครงการเขตการค้าเสรีนำร่องจะช่วยให้จีนมีบทบาทต่อการปรับเปลี่ยนข้อกำหนดด้านการค้าเสรีของโลกมากขึ้นเช่น การทำข้อตกลงของหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership: TPP) ซึ่งมีแนวโน้มที่จีนจะได้เข้าร่วม ผู้เชี่ยวชาญบางคนกล่าวว่าเขต FTZ เป็นส่วนหนึ่งในยุทธศาสตร์ของจีนเพื่อสร้างอำนาจในการต่อรองกับ TPP เนื่องจากการเดินหน้าปฏิรูปเศรษฐกิจของจีนจะผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวได้อีก

นอกจากนี้ คาดว่า เขต FTZ จะกลายเป็นผู้นำทางด้านการเงินของเอเชียในอนาคต และจะทำให้จีนมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจโลกมากขึ้นในระยะยาว นักเศรษฐศาสตร์ต่างมองว่า ความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นในเขตการค้าเสรีจะเป็นกุญแจสำคัญในการยกระดับสกุลเงินหยวนในตลาดการเงินโลก และรอดูว่า จีนจะสามารถพัฒนาเศรษฐกิจให้ก้าวไปสู่ระดับโลกได้หรือไม่

  • การหมุนเวียนของเงินทุน

นายอู๋ เสี่ยวหลิง อดีตรองผู้ว่าการธนาคาร People’s Bank of China แสดงความเห็นว่า การทดลองปฏิรูปเศรษฐกิจในเขต FTZ อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงได้เช่นกัน โดยอาจทำให้มีการแสวงหาผลประโยชน์จากการไหลเข้าของเงินทุนโดยอาศัยช่องโหว่บางประการ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ของธนาคารกลางจีนบางคนก็ไม่เห็นด้วยกับการอนุญาตให้ตลาดเป็นผู้กำหนดอัตราดอกเบี้ยได้อย่างอิสระ เนื่องจากเขตการค้าเสรีอาจดึงดูดเงินจากส่วนอื่นๆของจีนเข้ามามากเกินไป หากการควบคุมอัตราดอกเบี้ยมีความหละหลวม

  • ผลกระทบในวงจำกัด

นักเศรษฐศาสตร์ส่วนหนึ่งมองว่า FTZ ของเซี่ยงไฮ้จะก่อให้เกิดผลกระทบน้อยมากต่อเศรษฐกิจในระยะสั้น และจะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวต่อปีในระดับที่ไม่มากนัก นอกจากว่า รัฐบาลจะปรับใช้นโยบายดังกล่าวในวงกว้างยิ่งขึ้น โดยรัฐบาลจีนจำเป็นต้องมีสนามทดลองเพื่อช่วยในการตัดสินใจเกี่ยวกับการให้ความสนับสนุนทางการเมือง ซึ่งจะนำไปสู่การดำเนินการปฏิรูปที่ยุ่งยากขึ้นในระดับประเทศ บางคนถึงกับกล่าวว่า เขต FTZ เป็นเพียงส่วนเล็กๆของจีนเท่านั้น เพราะ FTZไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาต่างๆที่ก่อให้เกิดการขยายตัวของหนี้สิน และปัญหาการคอร์รัปชั่นในประเทศ

บรรดานักวิเคราะห์มองว่าเขต FTZ เป็นนโยบายที่ตอบสนองต่อแนวโน้มของการปฏิรูปเศรษฐกิจโลกในช่วงหลังวิกฤติการเงิน โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ซึ่งการปฏิรูปเศรษฐกิจนั้นจะช่วยให้ประเทศหลุดพ้นจากการเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง (middle income) เพื่อก้าวขึ้นเป็นประเทศที่มีรายได้สูง

เหตุการณ์สำคัญครั้งนี้ทำให้หลายคนนึกย้อนไปถึงเมืองเสิ่นเจิ้น ซึ่งเดิมเป็นเพียงหมู่บ้านประมงเล็กๆ แต่ได้รับการพัฒนาให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Shenzhen Special Economic Zone) เพื่อทดลองการปฏิรูปเศรษฐกิจของจีนในช่วงปี 2523 โดยเติ้ง เสี่ยวผิง ผู้นำสูงสุดของจีนในขณะนั้น ได้อนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาก่อตั้งโรงงานผลิตรองเท้า ของเล่นเด็ก และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการส่งออกจนประสบความสำเร็จอย่างมหาศาล ส่งผลให้ชาวจีนกว่า 600 ล้านคนหลุดพ้นจากความยากจน และทำให้จีนกลายเป็นฐานโรงงานอุตสาหกรรมของโลก ตลอดจนก้าวขึ้นมาเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก

ยกเลิกแบน Facebook และ Twitter

นอกจากการปฏิรูปเศรษฐกิจขนานใหญ่ในเขต FTZ ทั้งด้านการเงิน และการลงทุนแล้ว จีนยังประกาศอนุญาตให้ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กยอดนิยมอย่างเฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ รวมถึงเว็บไซต์นิวยอร์ก ไทมส์ในพื้นที่ดังกล่าวได้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความจริงจังในการเดินหน้าปฏิรูปประเทศอย่างแท้จริง เนื่องจากจีนเป็นประเทศที่ควบคุมการใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างเคร่งครัดด้วยระบบการเซ็นเซอร์ของรัฐบาลที่เรียกว่า Great Firewall of China ซึ่งจะทำหน้าที่ลบข้อความออนไลน์ และปิดกั้นการเข้าเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม และมีความอ่อนไหวต่อประเด็นทางการเมือง เจ้าหน้าที่รัฐบาลรายหนึ่งระบุว่า การผ่อนคลายดังกล่าวเป็นไปเพื่อช่วยให้นักลงทุนรู้สึกเหมือนอยู่บ้าน “หากพวกเขาไม่สามารถเล่นเฟซบุ๊ก หรืออ่านนิวยอร์ก ไทมส์ได้ พวกเขาอาจเกิดคำถามว่า เขตการค้าเสรีเซี่ยงไฮ้แตกต่างจากส่วนอื่นๆของจีนอย่างไร"

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2552 เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ถูกแบนทั่วจีนแผ่นดินใหญ่ หลังจากเหตุจลาจลครั้งรุนแรงจากความขัดแย้งด้านเชื้อชาติในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ โดยรัฐบาลอ้างว่า สื่อโซเชียลทั้งสองเป็นตัวยั่วยุให้เกิดเหตุการณ์น่าเศร้าดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ชาวจีนส่วนหนึ่งก็แอบใช้งานเฟซบุ๊ก โดยผลสำรวจของบริษัทวิจัย Global Web Index พบว่า ในระหว่างปี 2552-2555 จำนวนผู้ใช้เฟซบุ๊กในจีนได้เพิ่มขึ้น 8 ล้านคนเป็น 63 ล้านคน ส่วนผู้ใช้ทวิตเตอร์เพิ่มขึ้น 12 ล้านคน สู่ 35 ล้านคน ถึงกระนั้นก็ตาม สถิติดังกล่าวก็ยังเทียบไม่ได้กับจำนวนผู้ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กของรัฐบาลซึ่งได้แก่ เหรินเหริน (Renren), เวยป๋อ (Weibo) และวีแช็ท (WeChat) ที่มีจำนวนหลายร้อยล้านคน

ศูนย์กลางข้อมูลเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของจีน (CNNIC) เปิดเผยว่า ในขณะนี้จีนมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมากกว่า 591 ล้านคน และผู้ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถืออีกกว่า 460 ล้านคน ดังนั้น จีนจึงเป็นตลาดใหม่ที่สำคัญสำหรับเฟซบุ๊ก มาร์ก ซักเกอร์เบิร์ก ซีอีโอใหญ่ของเฟซบุ๊กได้ติดต่อบริษัทเว็บไซต์ท้องถิ่นของจีน และกล่าวว่า การอนุญาตให้เข้าถึงเฟซบุ๊กในจีนสอดคล้องกับเป้าหมายของบริษัทซึ่งก็คือการติดต่อกันทั่วโลก นอกจากนี้ เมื่อต้นเดือนก.ย. ที่ผ่านมา นางเชอริล แซนด์เบิร์ก ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของเฟซบุ๊กได้เข้าพบหัวหน้าสำนักงานเผยแพร่ข่าวสารของรัฐบาลจีน ทั้งสองได้หารือเกี่ยวกับความสำคัญของเฟซบุ๊กต่อภาคธุรกิจ เนื่องจากในปัจจุบันบริษัทของจีนยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องในต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนโอกาสที่เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ จะประสบความสำเร็จในจีนจะไม่สดใสนัก เพราะจีนมีโซเชียลเน็ตเวิร์กรายใหญ่ๆที่ครองความนิยมชาวจีนมานานหลายปี และมีฟังก์ชั่นการใช้งานที่ไม่ได้ด้อยไปกว่าโซเชียลเน็ตเวิร์คจากต่างประเทศสองเจ้านี้ โดยในปีที่แล้ว ซิน่า เวยป๋อ ไมโครบล็อกของจีนที่มีลักษณะผสมกันระหว่างทวิตเตอร์ และเฟซบุ๊กมีผู้ลงทะเบียนใช้งานมากกว่า 500 ล้านคน ส่วนแอพพลิเคชั่นวีแชทของจีนมีผู้ใช้งานถึง 236 ล้านคน ซึ่งมากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ใช้สมาร์ทโฟนทั้งหมดของจีน นอกจากนี้ ในปีที่ผ่านมา เฟซบุ๊กเปิดเผยว่า ส่วนแบ่งตลาดในจีนแทบจะเป็นศูนย์ ขณะที่มีรายงานว่า ผู้ใช้งานทวิตเตอร์ในแดนมังกรนั้นมีจำนวนต่ำกว่า 50,000 คนเสียอีก

การปฏิรูปเศรษฐกิจดังกล่าวนับเป็นก้าวย่างสำคัญอีกก้าวหนึ่งของยักษ์ใหญ่แห่งซีกโลกตะวันออกเพื่อแก้ปัญหาค่าแรงที่เพิ่มสูงขึ้น และแรงงานที่หดตัวลง ซึ่งกำลังเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศ และยังถือเป็นการปรับเปลี่ยนรูปแบบ และข้อกำหนดด้านการค้า การลงทุน และการเงินอย่างยืดหยุ่นมากขึ้นในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ หากเขตการค้าเสรีซึ่งเป็นโครงการทดลองนำร่องประสบความสำเร็จ รัฐบาลก็มีแนวโน้มที่จะนำไปปรับใช้กับส่วนอื่นๆของจีนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจต่อไป ใครจะรู้ว่า สักวันหนึ่งจีนอาจก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจเบอร์ 1 ของโลกแทนที่สหรัฐอเมริกาซึ่งกำลังประสบวิกฤติทางการเมือง และการคลังอยู่ในขณะนี้ก็เป็นได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ