นายซิงห์กล่าวสุนทรพจน์ที่โตเกียวว่า “เมื่อพิจารณาถึงสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่สูงมากของญี่ปุ่นแล้ว การเสริมความแข็งแกร่งทางการคลังจึงเป็นเรื่องที่จำเป็น"
นายซิงห์ได้กล่าวชื่นชมการตัดสินใจเมื่อต้นเดือนนี้ของนายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ ในการปรับขึ้นอัตราภาษีขายเป็น 8% จากระดับปัจจุบันที่ 5% ในเดือนเม.ย.ตามตารางที่กำหนดไว้ โดยระบุว่า “เป็นก้าวแรกที่สำคัญในการสร้างความมั่นใจเกี่ยวกับความยั่งยืนทางการคลัง"
“แต่การลดลงของรายได้สุทธิของภาคครัวเรือน ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับอัตราภาษีที่สูงขึ้นนั้น จะก่อความเสี่ยงต่อการปรับเปลี่ยนที่จำเป็นสู่การขยายตัวที่มีแรงผลักดันจากอุปสงค์ของภาคเอกชน" เขากล่าว โดยเสริมว่า "สิ่งสำคัญจะอยู่ที่การหาจุดสมดุลที่เหมาะสมโดยการปฏิรูปทางการคลังที่เอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจเท่าที่จะเป็นไปได้"
เจ้าหน้าที่ระดับสูงของไอเอ็มเอฟกล่าวว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่น "มีการขยายตัวอย่างแข็งแกร่งในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ โดยมีแรงผลักดันจากกการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่, การบริโภคภาคเอกชนที่สดใส และการขยายตัวด้านการส่งออก"
นายซิงห์ระบุว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก ได้รับแรงหนุนจากนโยบายเศรษฐกิจของนายอาเบะซึ่งรู้จักกันในชื่อ “อาเบะโนมิคส์" ซึ่งประกอบไปด้วยการผ่อนคลายทางการเงินในเชิงรุก, การใช้จ่ายสาธารณะจำนวนมหาศาล และกลยุทธ์การขยายตัวที่มีจุดประสงค์กระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชน
“การดำเนินนโยบายจนถึงขณะนี้ ได้ส่งผลให้ญี่ปุ่นถูกจับตามองจากทั่วโลก" นายซิงห์กล่าว
เขาระบุว่า “ผมประเมินในเบื้องต้นว่า ในช่วงแรก นโยบายเศรษฐกิจแบบอาเบะโนมิคส์ได้ดำเนินไปด้วยดีและมีสัญญาณบวกว่าเศรษฐกิจกำลังมีการฟื้นตัว โดยได้รับแรงผลักดันจากนโยบายต่างๆ" สำนักข่าวเกียวโดรายงาน