เอกสารนโยบายหลักที่พรรคคอมมิวนิสต์จีน (CPC) เปิดเผยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา แสดงถึงความสำคัญของเขตการค้าเสรีนำร่องในเซี่ยงไฮ้ เอกสารดังกล่าวผ่านการลงมติจากการประชุมใหญ่ครั้งที่ 3 ของคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนสมัยที่ 18 ซึ่งเป็นการประชุมระยะเวลา 4 วันสิ้นสุดวันที่ 12 พฤศจิกายน
เอกสารนโยบายระบุว่า "พื้นที่ที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขจะได้รับเลือกให้สร้างท่าเรือ หรือพื้นที่สำหรับทำการค้าเสรี ตามพื้นฐานการผลักดันการพัฒนาเขตการค้าเสรีนำร่องที่มีอยู่" คำตัดสินครั้งนี้ทำให้จำนวนเขตการค้าเสรีมีเพิ่มขึ้น และพัฒนาไปสู่ช่องทางออนไลน์อย่างรวดเร็ว
การปฏิรูปเขตการค้าเสรีต้นแบบ
เขตการค้าเสรีในเซี่ยงไฮ้ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 29 ตร.กม.ใน 4 พื้นที่ของเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางการเงินของจีน เขตการค้าดังกล่าวผ่านการอนุมัติเห็นชอบจากรัฐบาลกลางของจีนเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 29 กันยายน ทำให้ตลาดจีนสามารถรองรับนักลงทุนต่างชาติได้มากขึ้น ซึ่งครอบคลุมถึงภาคบริการ และการเงิน
หลง กู่เจียง นักวิเคราะห์อาวุโสที่ศูนย์วิจัยการพัฒนาของสภารัฐมนตรีจีน ระบุว่า ภายในสิ้นเดือนตุลาคม บริษัทกว่า 200 แห่งหลั่งไหลเข้าสู่เขตการค้าเสรีในเซี่ยงไฮ้ ทว่า ความกระตือรือร้นของบริษัทเหล่านี้ตอกย้ำให้เห็นถึงข้อเท็จจริงที่น่าเศร้าว่า กฏระเบียบ และรูปแบบวิธีการพัฒนาภายนอกเขตการค้าเสรีนั้น มีข้อจำกัดด้านการพัฒนาอยู่
เขาระบุว่า "นอกจากนี้ ยังแสดงถึงความมั่นใจของนักลงทุนที่มีต่ออนาคตของจีน รวมถึงโอกาสที่ FTZ จะช่วยเร่งการปฏิรูป และเปิดกว้างเศรษฐกิจจีน"
เทศบาลต่างๆได้ดำเนินการอย่างเหมาะสม และประการใช้เขตการค้าเสรีเช่นเดียวกัน เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจในท้องถิ่นเติบโต ขณะที่เมืองในบริเวณชายฝั่งต่างยื่นสมัครเพื่อจัดตั้งเขตการค้าเสรี อาทิ กวางเจา เถียนจิน และต้าเหลียน และเมืองชั้นในอย่าง ฉงชิ่ง เป็นต้น
เขาเชื่อมั่นว่า เขตการค้าเสรีสอดคล้องกับการปฏิรูปของรัฐบาลกลางอย่างสมบูรณ์แบบ ขณะที่เขตปกครองส่วนท้องถิ่นต่างหวังให้จีนมีการเติบโตอย่างยั่งยืน "เขตการค้าเสรีให้ประโยชน์กับทุกฝ่าย"
ซวง เจียน นักเศรษฐศาสตร์ที่เอเชี่ยน เดเวลอปเมนท์ แบงก์ ระบุว่า การเร่งเดินหน้าสร้างเขตการค้าเสรีจะช่วยให้ตรวจพบช่องโหว่ในแผนการพัฒนาแบบเก่า ซึ่งจะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติม
ซง ลี รองผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์เศรษฐกิจประจำสำนักคณะกรรมาธิการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน กล่าวว่า นโยบายล่าสุดนี้ ส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่ารัฐบาลกลางให้ความสำคัญกับเขตการค้าเสรีเป็นอย่างมาก
จีนจะต้องพึ่งพานวัตกรรมในรูปแบบของกลไกการดำเนินงาน และแผนการพัฒนา เพื่อทำให้เศรษฐกิจจีนเติบโตอย่างมีชีวิตชีวา ขณะที่ความได้เปรียบด้านแรงงานยังคงมีไม่มากนัก และยังต้องอาศัยเวลาเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีให้มากขึ้น
โอกาส และความเสี่ยง
ซวง เจียน ระบุว่า เอกสารนโยบายยังได้ระบุถึงประเด็นการเปิดพื้นที่บริเวณชายแดน และเขตด้อยความเจริญของจีน เทศบาลส่วนท้องถิ่นควรจะใช้โอกาส และพัฒนาอุตสาหกรรมตามคุณสมบัติของตนเอง และสร้างข้อได้เปรียบให้มากที่สุดเท่าที่จะสร้างได้ นโยบายเก่าให้ความสำคัญกับเมืองบริเวณชายฝั่ง ซึ่งมีทรัพยากรมากกว่าเมืองชั้นใน แต่ปัจจุบัน สถานการณ์ได้ไปเปลี่ยนแปลงในแง่ของโอกาสทางการพัฒนา
เขาระบุว่า เศรษฐกิจก่อนหน้านี้ค่อนข้างจะปิด เนื่องจากการควบคุมปัจจัยการผลิตที่หลากหลายเป็นอย่างมาก อาทิ แรงงาน และเงินทุน แต่การพัฒนาเศรษฐกิจจะเปลี่ยนไปให้ความสำคัญกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นวัตกรรม และอุตสาหกรรมเกิดใหม่มากขึ้น
กวง เซี่ยนหมิง หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจสังกัดสถาบันปฏิรูปและการพัฒนาของจีนในไห่หนาน แสดงความเห็นด้วยว่า สถาบันต่างๆแตกต่างกันไปตามทำเลที่ตั้ง ดังนั้นการพัฒนาเขตการค้าเสรีจึงไม่ควรมีรูปแบบที่ตายตัว
เขาเตือนว่า การสมัครเข้าร่วมเป็นเขตการค้าเสรีอาจได้รับแรงจูงใจจากความต้องการนโยบายที่มอบสิทธิ์พิเศษดังเช่นเขตการค้าเสรีในเซี่ยงไฮ้ เขากล่าวว่า "หากแนวคิดเขตการค้าเสรีเป็นเพียงแค่นโยบายชวนฝัน ก็จะต่างจากเป้าหมายที่ตั้งไว้แต่แรกเป็นอย่างมาก" สำนักข่าวซินหัวรายงาน