In Focusเลาะรั้วเศรษฐกิจ-การเงินโลกปี 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 12, 2013 11:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกเผชิญกับความผันผวนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกาที่ล้มลุกคุกคลานหลังจากการล่มสลายของเลห์แมน บราเธอร์ส เมื่อ 5 ปีก่อน ขณะที่ยูโรโซนก็เผชิญวิกฤตหนี้สาธารณะ เมื่อกลุ่มประเทศ “หมู" หรือ PIIGS ได้แก่ โปรตุเกส ไอร์แลนด์ อิตาลี กรีซ และสเปน ต้องแบกภาระหนี้ภาครัฐสูงเกินตัว จนต้องกู้หนี้ยืมสินจากต่างประเทศ ขณะที่เอเชียแม้ไม่เจอปัญหาโดยตรง แต่ด้วยความที่ประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคต้องพึ่งพาการส่งออก เศรษฐกิจจึงหนีไม่พ้นติดร่างแหชะลอตัวลงตามไปด้วย

สำหรับเศรษฐกิจและการเงินโลกในปี 2556 ที่กำลังจะผ่านพ้นไปในอีกไม่ถึงเดือนนั้น ดูเหมือนจะเริ่มฟื้นตัวแข็งแกร่งขึ้นในภาพรวม แต่ถึงกระนั้น แนวโน้มเศรษฐกิจและการเงินในปี 2557 ยังไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบอย่างแน่นอน แต่ก่อนที่จะมองข้ามช็อตไปถึงปีหน้า คอลัมน์ In Focus สัปดาห์นี้ ขอนำท่านผู้อ่านย้อนกลับไปดู 3 เหตุการณ์เด่นทางเศรษฐกิจและการเงินโลกที่เกิดขึ้นในรอบปีที่ผ่านมา

* อาเบะโนมิคส์

"อาเบะโนมิคส์" ถือเป็นสมญานามที่โดดเด่นสมญานามหนึ่งที่ได้รับการเรียกขานกันในหมู่สำนักข่าวต่างประเทศจนถูกนำมาเสนอกันอย่างแพร่หลายในปีนี้ อาเบะโนมิคส์ คือ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเชิงรุกของญี่ปุ่นที่ถูกเรียกชื่อตามนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ภายใต้มาตรการธนู 3 ดอก คือ การเงิน การคลัง และการปรับโครงสร้าง กล่าวคือการใช้มาตรการการคลังและการเงินแบบผสมผสาน ควบคู่กับการปฏิรูปเศรษฐกิจ ซึ่งนอกจากจะทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นกลับมาเติบโตแล้ว ยังวางพื้นฐานให้เป็นการเติบโตแบบยั่งยืนในอนาคต

ภายใต้นโยบายเศรษฐกิจสูตร (สำเร็จ) ของนายอาเบะนั้น นายอาเบะได้เริ่มประกาศใช้มาตรการผ่อนคลายทางการคลังเมื่อต้นปีนี้ ด้วยการเพิ่มค่าใช้จ่ายเป็นเม็ดเงินราว 10 ล้านล้านเยน อัดฉีดสู่ระบบเศรษฐกิจทันที ขณะเดียวกัน นายอาเบะได้เลือกผู้ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นคนใหม่ คือ นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ซึ่งประกาศใช้มาตรการการเงินแบบผ่อนคลาย ด้วยการตั้งเป้าที่จะกระตุ้นภาวะเงินเฟ้ออยู่ในระดับ 2% ให้สำเร็จภายใน 2 ปี โดยการให้แบงก์ชาติญี่ปุ่นเข้าซื้อหลักทรัพย์ หรือ QE สไตล์ญี่ปุ่น คิดเป็นมูลค่าราว 70,000 ล้านดอลลาร์ต่อเดือน

นายมาซายูกิ คูโบตะ ผู้จัดการกองทุนอาวุโสของไดวา เอสบีไอ อินเวสเมนท์ กล่าวว่า ธนูดอกแรกของนโยบายอาเบะโนมิคส์ หรือการผ่อนคลายการเงินนั้นประสบความสำเร็จแล้ว เนื่องจากช่วยหยุดการแข็งค่าของเงินเยน ซึ่งจะส่งผลสืบเนื่องให้ผลกำไรของภาคธุรกิจปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ในส่วนของดัชนีราคาผู้บริโภค หรือ CPI ซึ่งเป็นตัวชี้วัดเงินเฟ้อนั้น ผลปรากฏว่า ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.9% ในเดือนต.ค. เมื่อเทียบเป็นรายปี ทำสถิติขยายตัวรวดเร็วที่สุดในรอบ 5 ปี ส่วนดัชนี CPI พื้นฐานที่ไม่รวมราคาอาหารและพลังงาน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.3% ซึ่งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนต.ค.2551 ที่ดัชนีกลับสู่แดนบวก และยังเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนส.ค. 2541

สำหรับการใช้ธนูดอกที่ 3 หรือการปฏิรูปเศรษฐกิจนั้น นายอาเบะได้ประกาศขึ้นภาษีการขายขึ้นสู่ระดับ 8% ในเดือนเม.ย.ปีหน้า จากปัจจุบันที่ 5% ซึ่งเป็นการขึ้นภาษีการขายครั้งแรกในรอบเกือบ 20 ปี ด้วยความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขหนี้สาธารณะของประเทศ เนื่องจากปัจจุบันญี่ปุ่นมีหนี้สินสูงสุดในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ คิดเป็นอัตราส่วน 245% ของจีดีพี ซึ่งนับเป็นประเด็นที่สร้างความไม่มั่นใจให้แก่นักลงทุนต่างประเทศ โดยเกรงว่าญี่ปุ่นอาจตกอยู่ในสภาพที่คล้ายคลึงกับประเทศกรีซในที่สุด

อย่างไรก็ดี กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เปิดเผยว่า การใช้นโยบายอาเบะโนมิคส์อย่างเต็มรูปแบบ จะส่งผลบวกต่อการขยายตัวโดยรวมของเศรษฐกิจโลก แต่ในทางกลับกัน ถ้านโยบายอาเบะโนมิคส์ล้มเหลว ก็จะมีผลเสียอย่างหนักต่อเศรษฐกิจโลกด้วย

ในรายงานประเมินนโยบายเศรษฐกิจของหลายประเทศนั้น ไอเอ็มเอฟได้นำปัจจัยหลายอย่างมาพิจารณา อาทิ การร่วงลงอย่างหนักของเงินเยนภายใต้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของธนาคารกลางญี่ปุ่น

ไอเอ็มเอฟระบุว่า อัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริงของเงินเยนที่ร่วงลง 10% ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวมน้อยมาก หากรัฐบาลญี่ปุ่นเดินหน้าใช้นโยบาย "อาเบะโนมิคส์" อุปสงค์ในประเทศก็จะดีดตัวขึ้นและทำให้เกิดเงินเฟ้อต่อราคาสินค้า ส่งผลให้อัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริงของเงินเยนแข็งค่าขึ้น

อย่างไรก็ดี หากการปฏิรูปโครงสร้างทางการเงิน การปรับสมดุลการคลัง และการบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อใหม่ไม่ประสบผลสำเร็จ ผลผลิตในญี่ปุ่นอาจร่วงลง 4% หลังผ่านไป 10 ปี และผลผลิตทั่วโลกอาจหดตัวถึง 2% ของจีดีพี ตลอดจนหนี้สาธารณะที่สูงกว่า 240% ของจีดีพี อาจเป็นความเสี่ยงสำคัญของเศรษฐกิจและค่าเงินเยนในช่วงต่อไป

* ชัตดาวน์

เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2556 รัฐบาลกลางสหรัฐจำเป็นต้องปิดทำการหน่วยงานบางส่วนเป็นครั้งแรกนับแต่ปี 2539 หรือในรอบ 17 ปี เนื่องจากสภาคองเกรสไม่สามารถประนีประนอมกันได้เกี่ยวกับร่างงบประมาณชั่วคราวภายในเวลาเที่ยงคืนของวันที่ 30 ก.ย. ตามเวลาสหรัฐ ก่อนที่จะเริ่มปีงบประมาณใหม่

ชัตดาวน์ หรือ การปิดหน่วยงานรัฐบาลดังกล่าวดำเนินยืดเยื้อมาเป็นเวลา 16 วัน จนกระทั่งพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกันยอมอ่อนข้อจับมือผ่านร่างกฎหมายเพิ่มเพดานหนี้ ก่อนส่งให้ประธานาธิบดีบารัค โอบามาลงนาม อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบจากสภาคองเกรสของสหรัฐเมื่อวันที่ 17 ต.ค.นั้น จัดสรรงบประมาณสำหรับการดำเนินงานของรัฐบาลไปจนถึงวันที่ 15 ม.ค. และปรับเพิ่มเพดานหนี้ไปจนถึงวันที่ 7 ก.พ.เท่านั้น ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าช่วยสร้างความผ่อนคลายแก่ตลาดเงินทั่วโลกได้เพียงระยะสั้น

อย่างไรก็ดี ก่อนที่จะต้องไปลุ้นระทึกกันอีกในปีหน้าฟ้าใหม่ ล่าสุดเมื่อเช้าวันที่ 10 ธ.ค.ตามเวลาท้องถิ่นของสหรัฐ โลกก็ต้องถอนหายใจโล่งอก เมื่อได้รับข่าวดีว่าเดโมแครตและรีพับลิกันเคลียร์ร่างงบประมาณกันลงตัวแล้ว ซึ่งการันตีได้ว่ารัฐบาลกลางสหรัฐจะปลอดภาวะชัตดาวน์นาน 2 ปี หลังส.ว.แพตตี้ เมอร์เรย์ จากพรรคเดโมแครต และพอล ไรอัน จากพรรครีพับลิกัน ร่วมกันแถลงเรื่องร่างงบประมาณ 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

* ยูโรโซนหลุดพ้นจากภาวะถดถอย

ข้ามฝั่งมาที่ยูโรโซนบ้าง หลังจากที่ดำดิ่งอยู่ในภาวะถดถอยมานานถึง 18 เดือน ในที่สุดเศรษฐกิจของ 17 ประเทศที่ใช้สกุลเงินยูโรก็หลุดพ้นจากสภาพดังกล่าว หลังจากเศรษฐกิจขยายตัว 0.3% ในช่วงไตรมาส 2 จากไตรมาสแรกที่เศรษฐกิจหดตัว 0.3% การฟื้นตัวดังกล่าวได้แรงหนุนจากประเทศเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่อย่างเยอรมนีและฝรั่งเศสที่ขยายตัว 0.7% และ 0.5% ตามลำดับในไตรมาสดังกล่าว ขณะที่เศรษฐกิจของโปรตุเกสที่ประสบภาวะหนี้สินอย่างโปรตุเกสก็หลุดพ้นจากภาวะถดถอยเช่นกัน ด้วยอัตราการขยายตัว 1.1% นับเป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 2 ปี

ด้านสเปนตามมาติดๆ เมื่อเศรษฐกิจของประเทศปรับตัวขึ้น 0.1% ในไตรมาส 3 จากที่หดตัว 0.1% ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งจีดีพีที่ปรับตัวขึ้นในไตรมาส 3 ของสเปน ถือเป็นการยุติภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่ยืดเยื้อมากว่า 2 ปี เนื่องจากนายกรัฐมนตรีมาริอาโน ราฮอยของสเปนได้มุ่งเน้นการส่งออกเป็นปัจจัยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ พร้อมกับการปรับลดงบประมาณครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศ ก่อนหน้านี้นายราฮอยให้คำมั่นที่จะสร้างเสถียรภาพให้แก่รัฐบาลก่อนวาระการดำรงตำแหน่งของเขาจะหมดลงในปี 2558

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าเศรษฐกิจยุโรปนั้นพลิกกลับมาขยายตัวได้ด้วยมาตรการรัดเข็มขัดเพียงอย่างเดียว โดยไม่มีการออกมาตรการพิมพ์เงินเข้าไปกระตุ้นเหมือนสหรัฐและญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตาม แม้เศรษฐกิจของบางประเทศในยูโรโซนกลับสู่เส้นทางขยายตัวแล้ว แต่ตัวเลขจีดีพียังนับว่าต่ำมาก จึงอาจกล่าวได้ว่าแม้ภาวะถดถอยของยูโรโซนยุติลงแล้ว แต่วิกฤติหนี้ยังมีอยู่ และน่าจะใช้เวลาอีกสักพักใหญ่ กว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจจะช่วยลดตัวเลขหนี้สาธารณะของหลายประเทศลงได้ กระนั้นก็ตาม การฟื้นตัวของยูโรโซนถือเป็นข่าวดี เพราะว่าจะช่วยหนุนนำแนวโน้มเศรษฐกิจโลกได้

สรุปได้ว่า แม้เส้นทางเศรษฐกิจในปี 2557 จะไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่อย่างน้อยหลายๆประเทศก็เริ่มมองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์กันบ้างแล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ