In Focusจับตาเศรษฐกิจโลกปี 2557 ลุ้นเฟดหั่น QE รอบใหม่,ผลกระทบญี่ปุ่นขึ้นภาษีการค้า

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 8, 2014 14:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เราเพิ่งบอกลาปี 2556 กันไปได้เพียง 8 วัน เป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้คนมักตั้งความหวังกันว่า ปีใหม่ย่อมดีกว่าปีเก่า และสิ่งเก่าๆก็ผ่านพ้นไป จงเตรียมต้อนรับสิ่งใหม่ๆที่จะเข้ามาในชีวิต

หากเราย้อนกลับไปดูเศรษฐกิจโลกในปี 2556 หลายคนมองเห็นภาพนักกีฬาวินด์เซิร์ฟที่พยายามยืนทรงตัวอย่างระมัดระวังบนกระดานโต้คลื่น นั่นเพราะเศรษฐกิจปี 2556 ต้องรับผลพวงของวิกฤตหน้าผาการคลังในสหรัฐ วิกฤตหนี้ยูโรโซน และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งปัจจัยทั้งปวงนี้ได้ฉุดลากเอาเศรษฐกิจเกือบทั่วโลกซบเซาลงอย่างมีนัยสำคัญ

ไม่เพียงเท่านั้น ปี 2556 นักลงทุนทั่วโลกยังขวัญผวากับผลกระทบของการลดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) รวมทั้ง "วิกฤตสภาพคล่องจีน" ที่ผุดขึ้นมาท้าทายฝีมือของรัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง

อาจกล่าวได้ว่า...วิกฤตสภาพคล่องในจีนและความสับสนเรื่อง QE ของเฟด ถือเป็นภาพหลอนที่เขย่าใจนักลงทุนในตลาดการเงินมากที่สุดในปี 2556 ก็ว่าได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งสัญญาณที่สับสนกันไปคนละทางสองทางของเจ้าหน้าที่เฟด ความสับสนในเรื่องนี้ได้ทุบตลาดหุ้นสหรัฐและหุ้นทั่วโลกดิ่งเหวอยู่นานหลายวัน กระทั่งทุกฝ่ายพากันโล่งอกเมื่อคณะกรรมการนโยบายการเงินของเฟดตัดสินใจลดขนาด QE ในการประชุมวาระสุดท้ายของปี และยังช่วยหนุนตลาดหุ้นสหรัฐและหุ้นทั่วโลกรีบาวด์ขึ้นไปด้วย เนื่องจากตลาดมองว่า การลด QE ของเฟดสะท้อนให้เห็นว่าเฟดมีความเชื่อมั่นมากขึ้นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและการจ้างงานในสหรัฐ และที่ไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือ "เซอร์ไพรซ์ปลายปี" เมื่อธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) หั่นดอกเบี้ยลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.25% จาก 0.5%

ส่วนในปี 2557 นักวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์หลายแห่งในนิวยอร์กมองว่า รัฐบาลทั่วโลกไม่ควรละเลยผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการลด QE ของเฟด บางสำนักคาดการณ์ถึงขนาดที่ว่า เฟดอาจจะเลือกใช้ Exit Strategy หรือ ถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อดูดซับสภาพคล่องออกจากระบบ หลังจากที่เฟดอัดฉีดมาตรการ QE รวม 4 รอบเข้าสู่ระบบ วงเงินรวม 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน ก่อนที่จะเริ่มเปลี่ยนโหมดนโยบายการเงินด้วยการลดขนาด QE ลงเหลือ 7.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน ผู้เชี่ยวชาญมองว่า ความผันผวนด้านการเงินทั่วโลกจะยังคงมีอยู่สูง และควรจะต้องจับตา 3 ปัจจัยใหญ่ด้วยกัน ปัจจัยแรกคือ "ท่าทีการส่งสัญญาณ" ของเจ้าหน้าที่เฟดว่า จะลดขนาด QE ลงอีกหรือไม่และมีความชัดเจนเพียงใด

ปัจจัยที่สองคือ ทิศทางเศรษฐกิจญี่ปุ่นภายหลังการขึ้นภาษีการค้าว่า จะส่งผลกระทบต่อการบริโภคและเงินเฟ้อมากเพียงใด และจะทำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ต้องเพิ่มการอัดฉีดสภาพคล่องหรือไม่

และปัจจัยที่สาม การเมืองโลกที่จะเป็นความเสี่ยงที่สำคัญ โดย 2 ประเทศยักษ์ใหญ่ของตลาดเกิดใหม่อย่างอินเดียและอินโดนีเซียกำลังจะมีการเลือกตั้งผู้นำสูงสุดในขณะที่สหรัฐและยุโรปที่จะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาคองเกรสและสภายุโรปตามลำดับ

ทั้งนี้ การเปลี่ยนผู้นำฝ่ายบริหาร หรือฝ่ายนิติบัญญัติ มักจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายไม่มากก็น้อย ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่ามีความเป็นไปได้อย่างมากที่เราจะเห็นการเปลี่ยนขั้วอำนาจทางการเมืองไปสู่พรรคที่เป็นฝ่ายค้านในอินเดียและอินโดนีเซีย ส่วนในสหรัฐนั้น มีความเป็นไปได้ว่าในช่วงก่อนการเลือกตั้ง เราอาจจะเห็นความขัดแย้งระหว่างพรรคเดโมแครตและรีพับลิกันเกิดขึ้นอีกครั้ง ทำให้ความเสี่ยงทางการเมืองสหรัฐที่เริ่มลดน้อยลงไปบ้างแล้วนั้น กลับปะทุขึ้นอีก และจะทำให้ประเด็นเศรษฐกิจที่เกี่ยวพันกับการเมืองที่สำคัญๆ เช่น การขยายเพดานหนี้สาธารณะ นโยบายประกันสุขภาพหรือ Obamacare กลายเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจและตลาดเงินตลาดทุนอย่างต่อเนื่อง นโยบายโอบามาแคร์สร้างปัญหาให้กับประธานาธิบดีโอบามาอย่างมาก เนื่องจากความคาดหวังของประชาชนอเมริกันสร้างแรงกดดันให้รัฐบาลต้องเร่งผลักดันนโยบายนี้ ซึ่งเป็นนโยบายหลักที่จะปฏิรูปรูปแบบการให้บริการของรัฐออกมาอย่างรวดเร็ว แต่ก็มีหลายฝ่ายที่คัดค้าน โดยเฉพาะกลุ่ม Tea Party ที่ไม่ยกมือสนับสนุนนโยบายนี้

ส่วนในหลายประเทศที่แม้จะไม่มีการเลือกตั้งขึ้นมาใหม่ แต่ก็เพิ่งเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจ รวมถึงการปฏิรูปภาคการเงินในจีน ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ในหลายภูมิภาค เช่น หมู่เกาะเซนโกกุ/เตียวหยู ที่เป็นข้อพิพาทระหว่างจีนและญี่ปุ่น ประเด็นความมั่นคงในคาบสมุทรเกาหลี และโอกาสที่จะเกิดสงครามในอิหร่านและซีเรีย ล้วนแล้วแต่เป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกทั้งสิ้น

นอกจากนี้ ตลาดการเงินยังจับตาความเคลื่อนไหวของประเทศตลาดเกิดใหม่ในกลุ่ม MINT อันประกอบด้วย เม็กซิโก (Mexico) อินโดนีเซีย (Indonesia) ไนจีเรีย (Nigeria) และตุรกี (Turkey) โดยจิม โอนีล หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์แห่งโกลด์แมน แซคส์ คาดว่า กลุ่ม MINT จะกลายเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญในอนาคตไม่น้อยไปกว่ากลุ่ม BRIC (บราซิล (Brazil) รัสเซีย (Russia) อินเดีย (India) และจีน (China)

ปี 2557 เพิ่งจะเริ่มต้นได้เพียงไม่กี่วัน เรายังมีเวลาอีกมากที่จะปรับตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์ต่างๆที่จะเกิดขึ้น และไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ก็ขอให้ทุกคนตอบสนองสิ่งนั้นอย่างมีสติ และโชคดีมีชัยกันถ้วนหน้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ