วิทยากรที่ประชุม WEF ชี้ยุทธศาสตร์ "อาเบะโนมิกส์" อาจพลาดเป้า

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 24, 2014 12:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

วิทยากรระดับอาวุโสในการประชุมเวิลด์ อิโคโนมิก ฟอรัม เปิดเผยว่า แม้นโยบายอาเบะโนมิกส์เหมือนจะเดินมาถูกทางในการสร้างเศรษฐกิจญี่ปุ่น แต่ก็มียุทธศาสตร์ที่อาจจะล้มเหลวได้

นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะของญี่ปุ่น กล่าวสุนทรพจน์เมื่อวานนี้ โดยกล่าวว่า เขาจะทำตัวเหมือน "ดอกสว่าน" ที่เจาะกฎเกณฑ์ที่ยุ่งยากและทำลายอุปสรรคต่อการเติบโต

"โดยทั่วๆไปแล้วญี่ปุ่นเหมือนกำลังตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง แต่ก็มียุทธศาสตร์ที่อาจพลาดเป้าได้" ศาสตราจารย์โจเซฟ อี. สติกลิทซ์จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียกล่าวในระหว่างการอภิปราย

สติกลิทซ์ตั้งข้อสังเกตว่า ญี่ปุ่นเตรียมแผนที่จะขึ้นภาษีการบริโภคและลดภาษีเงินได้นิติบุคคลในเดือนเม.ย. พร้อมกับตั้งความหวังว่าองค์กรใดที่ดีก็จะสามารถใช้รายได้พิเศษนี้มาเพิ่มค่าแรง"

"ผมรู้ว่าเรื่องแบบนี้ที่สหรัฐแทบจะไม่เกิดขึ้นแน่นอน และก็อาจจะไม่เกิดขึ้นที่ญี่ปุ่นด้วย" สติกลิทซ์ระบุ

ทางด้านศาสตราจารย์เคลย์ตัน คริสเตนเซน จากคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ระบุถึงสาเหตุที่ญี่ปุ่นขยายตัวอย่างแข็งแกร่งในยุค 1950, 60 และ 70 ว่าเป็นเพราะบริษัทอย่างโตโยต้า ฮอนด้า โซนี่ และแคนนอน ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ครั้งหนึ่งมีราคาแพง ให้มีราคาย่อมเยาและเข้าถึงผู้บริโภคเป็นล้านๆคนทั่วโลก

ทั้งนี้ นโยบายอาเบะโนมิกส์ประกอบด้วย "ลูกศร" สามทางได้แก่ การผ่อนคลายทางการเงินอย่างจริงจัง และการกระตุ้นทางการคลัง และการปฏิรูปโครงสร้าง โดยสองลูกศรแรกมีการดำเนินการแล้ว ขณะที่หลายฝ่ายก็สงสัยว่าลูกศรที่สามอาจจะเกิดขึ้น สำนักข่าวซินหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ