In Focusต้นตอความเสี่ยงทางการเงิน อันตรายที่สั่นคลอนเสถียรภาพเศรษฐกิจจีน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 29, 2014 13:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

อีกเพียงไม่กี่วันก็จะเข้าสู่ช่วงเทศกาลตรุษจีนหรือวันขึ้นปีใหม่ของจีน ซึ่งถือเป็นเทศกาลตามประเพณีจีนที่มีความสำคัญที่สุดสำหรับชาวจีนและคนที่มีเชื้อสายจีนทั่วโลก โดยสมาชิกในครอบครัวที่แยกย้ายกันไปทำมาหากินหรือย้ายไปตั้งรกรากในพื้นที่อื่นๆจะกลับมาเฉลิมฉลองร่วมกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตากันทั้งครอบครัวที่บ้านเกิดอีกครั้ง เทศกาลดังกล่าวจะเป็นช่วงที่มีวันหยุดยาวนานนับสัปดาห์ ชาวจีนจะมีการจับจ่ายใช้สอยกันอย่างคึกคักและเม็ดเงินสะพัดจำนวนมาก เพราะชีวิตต้องดำเนินต่อไป ไม่ว่าเศรษฐกิจของประเทศจะอยู่ในภาวะเช่นไรก็ตาม

เศรษฐกิจจีนมีความเสี่ยงที่แฝงตัวอยู่และหยั่งรากลึก อันเนื่องมาจากโครงสร้างทางการเงินที่ไร้สมดุล โดยอาการของโรคความเสี่ยงดังกล่าวได้ปรากฏออกมาในภาวะวิกฤตสภาพคล่องที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ขณะที่มีหลายต้นตอที่เกี่ยวเนื่องกันและก่อให้เกิดความเสี่ยงอย่างค่อนข้างชัดเจนต่อเสถียรภาพทางการเงินของจีน

ระบบธนาคารเงา: ธุรกิจนอกระบบที่คุกคามทั้งประเทศ

การขยายตัวอย่างรวดเร็วของสินเชื่อนอกระบบธนาคารพาณิชย์จีนได้เริ่มมาตั้งแต่ช่วงหลังวิกฤตการเงินสหรัฐในช่วงปี 2551 โดยทางการจีนได้กระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการผ่อนคลายนโยบายการเงินและการคลัง เมื่อเวลาผ่านไป เศรษฐกิจจีนได้ฟื้นตัวขึ้น ปัญหาที่ตามมาก็คือเงินเฟ้อและราคาอสังหาริมทรัพย์ที่พุ่งขึ้น ดังนั้น รัฐบาลจีนจึงต้องคุมเข้มการปล่อยสินเชื่อของภาคธนาคาร

ขณะเดียวกัน ความต้องการสินเชื่อยังไม่ชะลอตัวลงและยังคงมีอยู่มากดังเดิม กลุ่มผู้ที่ต้องการกู้ยืมเงิน ซึ่งก็คือภาคธุรกิจและรัฐบาลท้องถิ่นต่างๆ และบรรดาผู้ปล่อยกู้ จึงพยายามหาช่องทางที่จะหลบเลี่ยงการควบคุมจากภาครัฐ ซึ่งส่งผลให้ระบบธนาคารเงาของจีนขยายตัวอย่างไม่หยุดยั้ง

ธุรกิจธนาคารเงาได้ผลักดันสัดส่วนหนี้สินและราคาสินทรัพย์ของประเทศให้พุ่งสูงขึ้น ขณะที่สภาพคล่องที่ตึงตัวสะท้อนให้เห็นถึงความยากลำบากของจีนในการที่จะส่งเสริมให้เศรษฐกิจขยายตัว โดยที่ยังคงมีสัดส่วนหนี้สินที่ระดับสูง

ธนาคารเงาคือ ธุรกิจการเงินนอกระบบธนาคารพาณิชย์ ซึ่งมีทั้งการปล่อยเงินกู้และระดมเงินออม โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเลี่ยงการกำกับดูแลจากทางการจีนทั้งในด้านการปล่อยสินเชื่อและอัตราดอกเบี้ย ที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์จีนจะดำเนินธุรกรรมธนาคารเงาด้วยการออกเงินกู้แก่ลูกค้าที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากระบบธนาคารตามปกติ รวมทั้งนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์โดยทั่วไป นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์ยังอาจเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจธนาคารเงาในฐานะคนกลางในการดำเนินธุรกรรมการเงินนอกระบบ ซึ่งธนาคารจะได้รับผลตอบแทนในรูปแบบของค่าธรรมเนียมในการดำเนินการ

การทำธุรกิจในลักษณะดังกล่าวมักจะไม่มีความชัดเจน และตรวจสอบได้ยาก เนื่องจากจะไม่มีการบันทึกลงในบัญชีของธนาคาร ซึ่งจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อฐานะการเงินของธนาคารพาณิชย์ที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง

ระบบธนาคารเงาของจีนได้กลายเป็นต้นตอที่บั่นทอนเสถียรภาพในระบบการเงินของจีน และกำลังก่อให้เกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อย่างชัดเจน

หนี้สินรัฐบาลท้องถิ่น: การใช้จ่ายที่เกินตัวและจมไม่ลง

หนี้สินของรัฐบาลท้องถิ่นจีนได้พุ่งขึ้นอย่างมากในช่วงที่มีการผลักดันกิจกรรมด้านการลงทุนและการก่อสร้างขนานใหญ่ในจีน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปี 2551 ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจโลก และนับแต่นั้นมา หน่วยงานต่างๆก็แข่งขันกันเปิดตัวโครงการด้านอุตสาหกรรมหนักและสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานจำนวนมาก ซึ่งจะสร้างความมั่นใจเกี่ยวกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่พุ่งพรวด โดยสัดส่วนจำนวนมากของเม็ดเงินที่นำมาใช้ลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ดังกล่าวนั้นมาจากการกู้ยืม และจนถึงขณะนี้โครงการที่ได้ลงทุนไปก็ยังไม่ได้ก่อให้เกิดกระแสเงินสดใดๆ

ปัญหาหนี้สินที่พอกพูนของรัฐบาลท้องถิ่นได้กลายมาเป็นหนึ่งในภัยคุกคามที่สำคัญต่อเสถียรภาพทางการเงินของจีนในขณะนี้

รายงานของมูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิสเมื่อต้นปีนี้ ระบุว่า หน่วยงานระดมทุนของรัฐบาลท้องถิ่นจีน (LGFV) จำนวนมาก ได้เผชิญกับภาวะกระแสเงินสดตึงตัวหรือลดลง ขณะที่ระดับหนี้สินเพิ่มสูงขึ้น

หนี้สินของรัฐบาลท้องถิ่นถือเป็นปัจจัยปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ส่งเสริมธุรกิจธนาคารเงาของจีน ขณะที่หน่วยงานกำกับดูแลทางการเงินของจีนได้ห้ามไม่ให้ธนาคารต่างๆจัดสรรเงินกู้โดยตรงแก่ LGFV หลังจากที่มีการปล่อยเงินกู้ในระดับที่มากเกินไป แต่รัฐบาลท้องถิ่นยังคงสามารถระดมเงินลงทุนได้อย่างปกติ ผ่านทางระบบธนาคารเงา

นักวิเคราะห์กล่าวว่า กิจกรรมด้านธนาคารเงาจำนวนมากคือช่องทางใหม่ที่จัดทำขึ้นโดยธนาคารพาณิชย์สำหรับอัดฉีดเม็ดเงินแก่ LGFV ขณะที่ LGFV ก็ยินดีที่จะจ่ายอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นอย่างมาก เนื่องจากระบบการคลังในปัจจุบันมีข้อจำกัดในการก่อหนี้

นายผาง กงเซิง รองผู้ว่าการธนาคารกลางจีนกล่าวว่า ภาระหนี้สินที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วของรัฐบาลท้องถิ่น และการที่ทางการจีนห้ามไม่ให้รัฐบาลท้องถิ่นกู้ยืมโดยตรงจากธนาคารต่างๆนั้น ส่งผลให้รัฐบาลท้องถิ่นดิ้นรนด้วยการจัดตั้ง LGFV ขึ้นหลายพันรายเพื่อช่วยดำเนินการระดมทุนแทน และหลังจากที่หน่วยงานกำกับดูแลด้านการธนาคารของจีนสั่งให้ธนาคารพาณิชย์เริ่มคุมเข้มการปล่อยเงินกู้แก่ LGFV ตั้งแต่ปี 2553 นั้น รัฐบาลท้องถิ่นก็ต้องหันไปพึ่งพาธนาคารเงา ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนในการระดมทุนพุ่งสูงขึ้น

สำนักงานตรวจสอบบัญชีแห่งชาติของจีนได้ประเมินหนี้สินของรัฐบาลท้องถิ่นไว้ที่ราว 10.89 ล้านล้านหยวน ณ สิ้นเดือนมิ.ย.2556 ซึ่งเพิ่มขึ้น 13% จากระดับ 1.25 ล้านล้านหยวน ณ สิ้นปี 2555

เมื่อปลายปีที่แล้ว หน่วยงานด้านองค์กร ภายใต้คณะกรรมการกลางของพรรคคอมมิวนิสต์จีน (CPC) ได้ตัดสินใจใช้ระบบใหม่ในการประเมินผลการทำงานของหน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่น โดยเลิกให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของเศรษฐกิจในท้องถิ่น แต่หนี้สินของรัฐบาลระดับท้องถิ่นจะเป็นดัชนีชี้วัดที่สำคัญประการหนึ่งในการประเมินการดำเนินงานของหน่วยงาน

ทางการจีนได้ให้คำมั่นที่จะสร้างวินัยทางการคลังแก่กระบวนการระดมทุนสำหรับรัฐบาลท้องถิ่น และจะให้รัฐบาลในแต่ละท้องถิ่นรับผิดชอบต่อหนี้ที่ก่อขึ้น

นายเจียน ชาง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จีนจากบาร์เคลย์ส กล่าวว่า “หนี้สินของรัฐบาลท้องถิ่นเป็นความเสี่ยงระยะกลางที่มีความรุนแรงที่สุดสำหรับจีน รัฐบาลท้องถิ่นไม่สามารถที่จะกู้ยืมได้โดยไม่มีขีดจำกัด ประเด็นสำคัญก็คือการกำหนดมาตรฐานในการควบคุมการระดมทุนในปัจจุบัน"

กำลังการผลิตส่วนเกินในภาคอุตสาหกรรม: ผลพวงเชิงกลยุทธ์หลังวิกฤตการเงิน

ภาวะกำลังการผลิตที่มากเกินไป หรือกำลังการผลิตส่วนเกินนั้น กำลังบั่นทอนความมีเสถียรภาพของเศรษฐกิจจีนมาอย่างต่อเนื่อง บริษัทในภาคอุตสาหกรรมจำนวนมาก ซึ่งเคยเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของประเทศนั้น ต่างได้รับผลกระทบจากอุปสงค์ที่อ่อนแรงและราคาสินค้าที่ตกต่ำลง ขณะเดียวกันผลกระทบจากศักยภาพในการผลิตที่ล้าสมัยก็กำลังฉุดความสามารถในการทำกำไรลงสู่ระดับต่ำถึงขั้นที่เป็นอันตราย และจะสร้างความเสียหายต่อการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมในระยะยาว

ในช่วงปีที่แล้ว ทางการจีนได้ให้ความสำคัญกับปัญหากำลังการผลิตส่วนเกินในภาคอุตสาหกรรม โดยถือเป็นภารกิจที่มีความสำคัญในอันดับต้นๆที่จะต้องสะสางให้ลุล่วง ขณะที่เดินหน้าความพยายามมากขึ้นเพื่อส่งเสริมการปรับโครงสร้างในภาคอุตสาหกรรม และนำไปสู่การพัฒนาในระยะยาวอย่างยั่งยืน

มาตรการต่างๆได้ถูกนำมาใช้เพื่อจัดการกับปัญหาดังกล่าว ขณะที่ผู้นำระดับสูงของจีนได้ออกมาย้ำเตือนอยู่บ่อยครั้งถึงผลกระทบที่จะตามมา หากปัญหากำลังการผลิตส่วนเกินอยู่ในภาวะที่เลวร้ายลง

ทางการจีนมีคำสั่งให้บริษัทเกือบ 1,500 แห่งใน 19 ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งรวมถึง ภาคอุตสาหกรรมเหล็กกล้า, ซีเมนต์, อิเล็กโทรไลต์ อลูมินัม, กระจกแผ่น และการต่อเรือ ดำเนินการยกเลิกกำลังการผลิตที่ล้าสมัยและจัดการกับกำลังการผลิตส่วนเกินภายในสิ้นปี 2556

บริษัทในภาคอุตสาหกรรมจำนวนมากได้เคยกู้ยืมเงินจำนวนมหาศาลจากธนาคารต่างๆได้ แต่ในขณะนี้ บริษัทเหล่านั้นกลับสามารถอยู่รอดได้จากการระดมเงินผ่านทางระบบธนาคารเงาเท่านั้น

นักวิเคราะห์ระบุว่า ผู้ประกอบการที่มีกำลังถูกรุมเร้าด้วยภาระหนี้สินนั้นได้ผลักดันให้ต้นทุนการกู้ยืมสูงขึ้นและก่อความเสี่ยงแก่ระบบธนาคารเงา ขณะที่ตลาดวิตกว่าการล้มละลายของผู้ประกอบการกลุ่มนี้จะจุดปะทุกระแสการผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาคการธนาคารของจีนที่มีศักยภาพในการทำกำไรที่ระดับต่ำอยู่แล้ว

ความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงินของจีนข้างต้นดูเหมือนจะมีความเกี่ยวโยงกันอย่างแยกไม่ออก การแก้ไขปัญหาจึงต้องอาศัยการปฏิรูปแบบเบ็ดเสร็จ และไม่ใช่เรื่องง่ายนักสำหรับรัฐบาลจีน เพราะต้นตอของปัญหาเกิดขึ้นมาเป็นเวลานานหลายปี และลุกลามหยั่งรากลึกลงไปมาก ขณะที่เศรษฐกิจในภาพรวมและแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในช่วงเริ่มต้นปีนี้ ไม่ได้ออกมาแข็งแกร่งแต่อย่างใด และยังสร้างความวิตกให้แก่นักวิเคราะห์และนักลงทุนทั่วโลก

เอชเอสบีซี โฮลดิงส์เปิดเผยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเบื้องต้นของจีนในเดือนม.ค.ลดลงแตะ 49.6 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 6 เดือน จากระดับ 50.5 ในเดือนธ.ค. โดยดัชนีที่ต่ำกว่า 50 บ่งชี้ว่ากิจกรรมภาคการผลิตของจีนหดตัวลงจากเดือนก่อนหน้า

นายฉู หงปิน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของเอชเอสบีซีกล่าวในแถลงการณ์ว่า ดัชนี PMI เบื้องต้นภาคการผลิตจีนในเดือนม.ค.มีปัจจัยถ่วงหลักๆมาจากอุปสงค์ภายในประเทศที่ซบเซา ซึ่งส่งสัญญาณถึงแนวโน้มการขยายตัวของภาคการผลิตที่อ่อนแรง หลังจากที่เผชิญปัจจัยลบจากการเติบโตด้านการจ้างงานอยู่แล้ว

ก่อนหน้านั้นเพียงไม่กี่วัน สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนได้เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ช่วงไตรมาส 4/2556 ขยายตัว 7.7% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งชะลอลงจากอัตรา 7.8% ในช่วงไตรมาส 3/2556

NBS ระบุว่า ในปี 2556 เศรษฐกิจจีนขยายตัว 7.7% เมื่อเทียบรายปี แตะ 56.88 ล้านล้านหยวน (9.31 ล้านล้านดอลลาร์) ส่วนในปี 2555 จีดีพีจีนก็มีการขยายตัวในอัตรา 7.7% เช่นกัน

รายงานล่าสุดแสดงให้เห็นว่าในปี 2556 เศรษฐกิจจีน ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก มีการขยายตัวในอัตราที่ต่ำสุดนับแต่ปี 2542 หรือในรอบ 14 ปี

แม้ว่าอัตราการขยายตัวที่ 7.7% จะสูงกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้ที่ 7.5% แต่ก็ตอกย้ำถึงความท้าทายที่เจ้าหน้าที่กำหนดนโยบายจีนต้องเผชิญในการทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ระดับสูงของจีนมีความต่อเนื่อง ขณะที่มีการปรับสมดุลทางเศรษฐกิจ

ข้อมูลดังกล่าวได้สั่นคลอนตลาดการเงินและความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั่วโลกในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว เนื่องจากเป็นการตอกย้ำให้เห็นว่าความกังวลที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องในประเด็นที่ว่าเศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวลงนั้น กำลังกลายเป็นความจริงขึ้นมาอย่างเป็นรูปธรรม

แถลงการณ์จากการประชุมดำเนินงานด้านเศรษฐกิจกลางของจีนเมื่อปลายปีที่แล้ว ซึ่งเป็นการประชุมที่กำหนดทิศทางเศรษฐกิจประจำปี แสดงให้เห็นว่า จีนให้คำมั่นที่จะดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพและมีความต่อเนื่อง ขณะที่ผลักดันให้มีการเดินหน้าปฏิรูปเพื่อบรรลุการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างเหมาะสมในปี 2557 โดยจีนจะยังคงดำเนินนโยบายการคลังเชิงรุกและนโยบายการเงินอย่างระมัดระวัง

ขณะที่แถลงการณ์ยอมรับว่า เศรษฐกิจจีนเผชิญความเสี่ยงช่วงขาลงนั้น แต่ก็ได้ให้คำมั่นที่จะผลักดันการปฏิรูปในด้านต่างๆ พร้อมประกาศภารกิจหลักด้านเศรษฐกิจสำหรับปี 2557 ซึ่งรวมถึงการสกัดความเสี่ยงด้านหนี้สินและการลดกำลังการผลิตที่มากเกินไป

แต่แถลงการณ์ไม่ได้ระบุเป้าหมายที่ชัดเจนสำหรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2557 ซึ่งมักจะมีการเปิดเผยกันในเดือนมี.ค. แต่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่า เป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจจะอยู่ที่ 7% หรือ 7.5%

แม้ว่า จีนได้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่ส่อเค้าลางที่ไม่สู้ดีนักในช่วงต้นปี 2557 ซึ่งถือเป็นปีแรกในการดำเนินการปฏิรูปประเทศตามที่ฝ่ายการเมืองของจีนได้ให้คำมั่นไว้ แต่ทั่วโลกก็ยังมีความหวังเกี่ยวกับการเดินหน้าปฏิรูปของจีน ซึ่งจะต้องมีการประเมินและปรับสมดุลอย่างเหมาะสมระหว่างผลกระทบจากการปฏิรูปและการรักษาระดับการขยายตัวทางเศรษฐกิจไว้ให้ได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ