อินโดนีเซียเผยอัตราเงินเฟ้อปรับตัวลงสู่ระดับ 7.75% ในเดือนก.พ.

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 3, 2014 16:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานสถิติแห่งชาติเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของอินโดนีเซีย (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อ ชะลอตัวลงในเดือนก.พ. ซึ่งส่งผลให้เกิดคาดการณ์ว่าธนาคารกลางของประเทศน่าจะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนนี้

นายอาดี ลูมักโซโน ผู้ช่วยด้านสถิติการผลิตของสำนักงานสถิติแห่งชาติประกาศว่า ดัชนี CPI ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 7.75% ในเดือนก.พ. เมื่อเทียบรายปี จากระดับ 8.22% ในเดือนม.ค.

นายอาดีกล่าวว่า ราคาอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากการจำหน่ายอาหารหยุดชะงัก เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นในเดือนก.พ.

ด้านนายไนอากา วิสนู วาร์ดานา นักวิเคราะห์จาก ธนาคาร CIMB คาดการณ์ว่า ธนาคารกลางอินโดนีเซีย จะยังคงอัตราดอกเบี้ยพื้นฐานที่ 7.75% ในการประชุมในช่วงต้นเดือนนี้

นายวาร์ดานากล่าวกับซินหัวทางโทรศัพท์หลังการคาดการณ์ดังกล่าวว่า “ธนาคารกลางอินโดนีเซียอาจมีมติคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนนี้ เนื่องจากแรงกดดันน้อยลง ในขั้นต่อไป บางทีธนาคารกลางอาจจะรอดูแรงกดดันจากภายนอก"

นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า การลดขนาดโครงการซื้อพันธบัตรของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจส่งผลเพียงเล็กน้อยต่อการไหลของเงินทุน

นโยบายทางการเงินแบบเข้มงวดในเชิงรุกของธนาคารกลางอินโดนีเซีย จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยพื้นฐาน 1.75% สู่ระดับ 7.50% ระหว่างเดือนมิ.ย.-พ.ย. เมื่อปีที่แล้ว ทำให้อินโดนีเซียอยู่ในสภาวะที่รับมือกับการไหลออกของเงินทุนได้ดีกว่าประเทศตลาดเกิดใหม่ประเทศอื่น

เมื่อเทียบรายเดือน นายอาดีกล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อลดลงอย่างมีนัยสำคัญสู่ระดับ 0.26% ในเดือนก.พ. หลังปรับตัวขึ้น 1.07% ในเดือนม.ค.

ธนาคารกลางของอินโดนีเซียคาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงในปีนี้ ในกรอบ 3.5% - 5.5%

นายชาทิป บาศรี รัฐมนตรีการคลังกล่าวว่า เศรษฐกิจอินโดนีเซียคาดว่าจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงในปีนี้ที่ระดับ 5.5% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกซบเซา สำนักข่าวซินหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ