นายรินทาโร่ ทามากิ ผู้ช่วยเลขาธิการและรักษาการหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์กล่าว ขณะที่เปิดเผยรายงานภาพรวมเศรษฐกิจล่าสุดว่า “การค่อยๆ ฟื้นตัวของเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศพัฒนาเป็นสิ่งที่สร้างความหวัง แม้ว่าปัจจัยชั่วคราวจะกดอัตราการขยายตัวลง ในช่วงเดือนแรกๆ ของปีก็ตาม ขณะที่การขยายตัวที่ชะลอตัวของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ มีแนวโน้มฉุดการขยายตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกลง"
ในการเปิดเผยรายงานด้านเศรษฐกิจชื่อ Interim Economic Assessment องค์การ OECD ได้ตั้งข้อสังเกตว่า การฟื้นตัวที่เพิ่มขึ้นมาจาก “สภาวะทางการเงินที่เป็นปัจจัยหนุน และการตึงตัวด้านงบประมาณที่ลดลง"
หลังผ่านฤดูหนาวกว่าปกติที่ส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของสหรัฐ อาจจะขยายตัวที่ 3.1% ในไตรมาสที่ 2 ของปี
ส่วนในญี่ปุ่น OECD ระบุว่า “การปรับขึ้นอัตราภาษีการบริโภค คาดว่าจะส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นในไตรมาสปัจจุบัน" ซึ่งจะช่วยหนุนการขยายตัวขึ้นแตะ 4.8% ในไตรมาสแรกของปี 2557 ขณะที่การขยายตัวของจีดีพีจะลดลง 2.9% ในไตรมาสที่ 2 ก่อนรูปแบบการฟื้นตัวตามปกติจะกลับมาเข้าที่เข้าทางมากขึ้น
ในเขตยูโรโซนที่วิกฤตยังคงดำเนินอยู่ อัตราการขยายตัวในยุโรป “ยังคงชะลอตัวท่ามกลางประเทศพัฒนาประเทศอื่นๆ" โดยประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุด 3 ประเทศ (เยอรมนี, ฝรั่งเศส และอิตาลี) จะมีอัตราการขยายตัวโดยเฉลี่ยรวมกันที่ 1.9% ในไตรมาสแรก และ 1.4% ในไตรมาสที่ 2
ในเยอรมนี จีดีพีคาดว่าจะขยายตัวประมาณ 3.7% ในไตรมาสแรก และ 2.5% ในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ขณะที่อัตราการขยายตัวรายปีของเศรษฐกิจฝรั่งเศส จะเคลื่อนไหวที่ประมาณ 1% และในอิตาลี ตัวเลขการขยายตัวจะยังคงอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 1% ทั้งใน 2 ไตรมาสแรก
ส่วนประเทศตลาดเกิดใหม่ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเกินครึ่งของเศรษฐกิจโลก OECD ระบุว่า “ประเทศตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่บางประเทศจะยังคงขยายตัวในอัตราที่รวดเร็ว รวมถึงประเทศจีน แต่ประเทศอื่นๆ กลับขาดปัจจัยกระตุ้น" ซึ่งหมายความว่า อัตราการขยายตัวทั่วโลกยังคงอยู่ที่ระดับปานกลางในระยะเวลาอันใกล้นี้ สำนักข่าวซินหัวรายงาน