ถ้าจะให้พูดถึงเศรษฐกิจที่น่าจับตามองในระยะหลังนี้ เราคงนึกถึงประเทศจีนเป็นอันดับต้นๆ ทว่าในความเป็นจริง นับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินโลกในช่วงปี 2550-2551 จีนถือเป็นหนึ่งในบรรดาประเทศที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตครั้งนั้น จากผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ที่เคยขยายตัวสูงกว่า 10% ก็ชะลอตัวลงเรื่อยๆจนล่าสุดในปี 2556 ขยายตัวเหลือเพียง 7.7% นอกจากนี้ จากการที่รัฐบาลจีนออกแผนปฏิรูปเศรษฐกิจในการประชุมประจำปีของสภาประชาชนแห่งชาติจีนเมื่อปลายเดือนพ.ย.ปีที่แล้ว เพื่อเปลี่ยนทิศทางการพึ่งพาการส่งออกมาเป็นการบริโภคในประเทศและมุ่งเน้นการจ้างงานก็ยิ่งส่งผลให้เศรษฐกิจประเทศชะลอตัวมากยิ่งขึ้น
- ข้อมูลเศรษฐกิจชี้สัญญาณชะลอตัว
ข้อมูลเศรษฐกิจจำนวนมากแสดงให้เห็นทิศทางขาลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลสำคัญๆที่ถูกจับตาว่า เป็นปัจจัยที่บ่งชี้สภาวะทางเศรษฐกิจของจีน
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของจีนในช่วงปี 2553-2556 แสดงให้เห็นถึงช่วงขาลง โดยขยายตัวจีดีพี 10.4% ในปี 2553 และลดลงเป็น 9.3% ในปีต่อมา และลดลงเหลือ 7.7% ในช่วง 2 ปีหลัง ซึ่งถือเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 13 ปี ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจของสหรัฐและยุโรป
ส่วนมาตรวัดอัตราเงินเฟ้ออย่างดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของจีนก็กำลังถลาลง ข้อมูลนับตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2556 จากสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) ระบุว่า ในเดือนก.ค.ดัชนี CPI ขยายตัวทรงตัวอยู่ที่2.7% เมื่อเทียบรายปี ก่อนที่จะขยายตัวลดลงเหลือ 2.6% ในเดือนส.ค. และเพิ่มขึ้นมาใหม่เป็น 3.1% และ 3.2% ในเดือนก.ย. และต.ค. จากนั้นก็ลดลงมาอย่างต่อเนื่องจนล่าสุดในเดือนก.พ.ขยายตัวอที่ระดับ 2% ทิศทางของ CPI ที่ลดลงมากกว่าเพิ่มนี้ ก่อให้เกิดกระแสความกังวลว่าจีนจะเข้าสู่สภาวะเงินฝืด ในขณะที่ธนาคารจีน (PBOC) ได้เริ่มดูดซับสภาพคล่องเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือนในเดือนก.พ.ที่ผ่านมา
ขณะที่เครื่องชี้วัดกิจกรรมภาคการผลิตอย่างดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อ (PMI) ที่ถึงแม้ข้อมูลจากสหพันธ์พลาธิการและการจัดซื้อของจีน (CFLP) และสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน (NBS) ยังออกมาอยู่เหนือระดับ 50 อย่างต่อเนื่อง ซึ่งบ่งชี้ว่ากิจกรรมภาคการผลิตกำลังขยายตัว และข้อมูลเดือนมี.ค.ก็เพิ่มขึ้นจากระดับ 50.2 ของเดือนก่อนสู่ระดับ 50.3 ก็ตาม แต่ข้อมูลที่สะท้อนดัชนีตัวเดียวกันจากภาคเอกชนอย่างเอชเอสบีซี โฮลดิงส์ กลับแสดงให้เห็นว่า ภาคการผลิตของจีนติดหล่มในภาวะหดตัวตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา โดยในเดือนม.ค.ดัชนีร่วงต่ำสุดในรอบ 6 เดือนแตะที่ 49.5 ต่อมาในเดือนก.พ.ร่วงต่อเนื่องแตะที่ 48.5 และล่าสุด ดัชนีในเดือนมี.ค.ลดลงอีกแตะระดับ 48.0 ซึ่งดัชนีที่ต่ำกว่า 50 แสดงให้เห็นถึงภาวะหดตัว
- ส่อแววการผิดนัดชำระหนี้
อีกสัญญาณหนึ่งซึ่งชี้ว่าเศรษฐกิจจีนกำลังมีปัญหาก็คือ การผิดนัดชำระหนี้ ในเดือนมี.ค.ปีนี้ บริษัทเซี่ยงไฮ้ โซลาร์ เอเนอร์จี ไซนส์ แอนด์ เทคโนโลยี ซึ่งเป็นผู้ผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ กลายเป็นบริษัทแห่งแรกของจีนที่ผิดนัดไถ่ถอนหุ้นกู้ ขณะที่ต่อมาบริษัทอสังหาริมทรัพย์ของจีน ได้แก่ เจ้อเจียง ซิกรัน เรียล เอสเตท ประสบภาวะล้มละลายพร้อมกับหนี้สินจำนวน 3.5 พันล้านหยวน ในจำนวนนี้เป็นการติดหนี้ธนาคารไชน่า คอนสตรัคชัน แบงก์ถึง 1 พันล้านหยวน และยังติดหนี้ธนาคารพาณิชย์อื่นๆไม่ต่ำกว่า 15 ราย ซึ่งทำให้กระแสความกังวลลุกลามไปถึงภาคธนาคารของจีน
ขณะเดียวกันก็เกิดกระแสความหวั่นวิตกว่า จีนจะก่อหนี้สะสม เนื่องจากตราสารหนี้จีนจำนวนมากจะครบกำหนดไถ่ถอนภายในปีนี้ โดยหนังสือพิมพ์อีโคโนมิค อินฟอร์เมชั่น เดลี่ ของรัฐบาลจีนรายงานว่า ผลิตภัณฑ์ทรัสต์มูลค่า 4-5 ล้านล้านหยวนของรัฐบาลจีน และหุ้นกู้มูลค่า 3 แสนล้านหยวนของบริษัทเอกชนจะครบกำหนดไถ่ถอนในปีนี้ ช่วงที่ครบกำหนดไถ่ถอนสูงสุดจะอยู่ในไตรมาส 2 และ 3
- ภาคธนาคารเริ่มรวน ผลประกอบการขยายตัวต่ำสุดเป็นประวัติการณ์
ภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องเริ่มส่งผลกระทบต่อภาคธนาคารจีนแล้ว ล่าสุด ธนาคารอินดัสเทรียล แอนด์ คอมเมอร์เชียล แบงก์ ออฟ ไชน่า (ICBC) ซึ่งเป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในโลก เมื่อนับตามมูลค่าสินทรัพย์และมูลค่าตลาด และเป็น 1 ใน 4 ธนาคาร"บิ๊กโฟร์" ซึ่งบริหารโดยรัฐ ได้รายงานกำไรสุทธิประจำปี 2556 ขยายตัว 10% เมื่อเทียบรายปี จากระดับ 15% ในปีก่อนหน้า สู่ระดับ 2.626 แสนล้านหยวน ( 4.22 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยอัตราการขยายตัวดังกล่าวถือว่าต่ำสุดนับตั้งแต่ธนาคารเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นในปี 2549 ขณะที่สัดส่วนหนี้เสียเพิ่มขึ้นจาก 0.85% เป็น 0.94% ในปีนี้ ทางด้านธนาคารอะกริคัลเจอรัล แบงก์ ออฟ ไชน่า ซึ่งเป็นอีกหนึ่งบิ๊กโฟร์ของจีน ทำกำไรสุทธิในปี 2556 ได้ 1.6632 แสนล้านหยวน เพิ่มขึ้น 15% จากปี 2555 ซึ่งเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นต่ำสุดนับตั้งแต่ธนาคารเข้าตลาดหุ้นในปี 2553
นอกจากจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจชะลอตัวแล้ว บรรดาธนาคารพาณิชย์จีนยังเผชิญการแข่งขันที่สูงขึ้นจากระบบธนาคารเงา ซึ่งเป็นธุรกิจการเงินนอกระบบธนาคารพาณิชย์ ที่มีทั้งการปล่อยเงินกู้และระดมเงินออม โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเลี่ยงการกำกับดูแลจากทางการจีนทั้งในด้านการปล่อยสินเชื่อและอัตราดอกเบี้ย ที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์จีนจะดำเนินธุรกรรมธนาคารเงาด้วยการออกเงินกู้แก่ลูกค้าที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากระบบธนาคารตามปกติ รวมทั้งนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์โดยทั่วไป
*แนวโน้มชะลอตัวอาจดำเนินต่อไป ตราบใดจีนสร้างงานได้ตามเป้า
เมื่อกลางเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียงของจีนได้เปิดเผยภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมประจำปีของสภาประชาชนแห่งชาติจีนว่า การกำหนดเป้าหมายการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของจีนที่ประมาณ 7.5% ในปีนี้เป็นระดับที่สามารถยืดหยุ่นได้ และได้เน้นถึงความสำคัญเรื่องจำนวนงานที่เพียงพอสำหรับประชาชน การเปิดเผยของนายกฯจีน มีนัยว่า จีนอาจจะยอมรับการขยายตัวที่ลดลงได้ ตราบใดที่ยังสามารถสร้างรายได้ให้กับประชาชน ขณะที่ก่อนหน้านี้นายหลี่เคยเปิดเผยว่าจีนต้องสร้างงานเพิ่มขึ้น 10 ล้านตำแหน่งในปีนี้ และเศรษฐกิจจำเป็นต้องขยายตัวให้ได้ 7.2% จึงจะสร้างงานได้ ในปีที่แล้วจีนสร้างงานใหม่ได้เพิ่มขึ้น 13 ล้านตำแหน่ง ขณะที่จีดีพีขยายตัว 7.7%
*วิตกเศรษฐกิจจีนสะท้อนถึงตลาดโลก
แม้ว่าเมื่อเร็วๆนี้ตลาดทั่วโลกจะได้รับผลกระทบเกี่ยวกับความวิตกกังวลต่อประเทศตลาดเกิดใหม่ ตลอดจนสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและชาติตะวันตกต่างๆ จากเหตุการณ์ที่รัสเซียผนวกเขตปกครองตนเองไครเมียของยูเครนมาเป็นของตนเอง ทว่าความกังวลที่มีต่อเศรษฐกิจจีนก็ถือปัจจัยลบที่ถ่วงตลาดในช่วงนี้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น สัญญาทองแดงนิวยอร์กที่ตลาด COMEX (Commodity Exchage) เมื่อความวิตกกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจจีนแพร่สะพัด ราคาทองแดงที่ตลาด COMEX ก็ร่วงลงไปแล้วมากกว่า 10% นับตั้งแต่ต้นปี เนื่องจากจีนถือเป็นประเทศที่ใช้ทองแดงมากที่สุดในโลก หรือคิดเป็น 40% ของความต้องการทั้งโลก เศรษฐกิจที่ชะลอตัวตัวลงจึงย่อมจะจำกัดอุปสงค์ของทองแดง
ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวลง หากดูจากข้อมูลเศรษฐกิจย้อนหลัง แต่ก็มีกระแสความคาดหวังว่า จีนอาจออกนโยบายผ่อนคลายทางการเงินหากเศรษฐกิจย่ำแย่เกินไปในอนาคต ขณะนักวิเคราะห์บางส่วนมองว่า เศรษฐกิจจีนไม่ดี แปลว่าอาจจะมีประเทศอื่นๆที่ได้รับแรงผลักดันที่ดีแทนจีน อาทิ ในด้านการนำเข้า-ส่งออกเป็นต้น ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจึงไม่ใช่เรื่องที่เลวร้ายเสียทีเดียว สำหรับผู้ใดก็ตามที่สามารถพลิกวิกฤตจากเรื่องนี้ให้เป็นโอกาสได้