นางลาการด์ กล่าวสุนทรพจน์ในวันนี้ว่า สถานการณ์ตึงเครียดทางการเมืองในภูมิภาคที่สูงขึ้น รวมทั้งความเสี่ยงจากเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับที่ต่ำมากเป็นเวลานานของประเทศเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้ว ตลอดจนความผันผวนในตลาดเกิดใหม่ อาจจะบดบังแนวโน้มของเศรษฐกิจโลก
ผอ.ไอเอ็มเอฟ กล่าวว่า สถานการณ์ในยูเครน ซึ่งหากไม่ได้มีการจัดการที่ดีแล้ว อาจจะส่งผลกระทบในวงกว้าง การแก้ปัญหาดังกล่าวและอื่นๆจำเป็นต้องใช้นโยบายที่ดี และนโยบายการเมืองที่ดีด้วยเช่นกัน นโยบายดังกล่าวถือเป็นสิ่งที่จำเป็นในการผลักดันให้เศรษฐกิจโลกเคลื่อนตัวได้ดียิ่งขึ้น
การผนวกไครเมียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียเมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา จุดชนวนให้เกิดสถานการณ์ตึงเครียดที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลก การส่งทหารถึง 40,000 รายไปประจำการบริเวณชายแดนที่ติดกับยูเครนก็ยิ่งทำให้เกิดความกังวลว่า รัสเซียจะบุกเข้าไปยังยูเครน เพื่อปกป้องประชาชนที่พูดภาษารัสเซียซึ่งอยู่ทางตะวันออกและใต้ของยูเครน