ไอเอ็มเอฟระบุในบทวิเคราะห์ในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกว่า ปัจจัยภายนอกที่ดีก่อนช่วงเกิดวิกฤต จะเปลี่ยนไปในทางตรงข้ามในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ และกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่จำเป็นต้องหาทางผ่านพ้นภาวะที่เอื้ออำนวยน้อยลงต่อการขยายตัว
ในด้านหนึ่ง ประเทศตลาดเกิดใหม่จะได้แรงหนุนจากการขยายตัวที่สูงขึ้นของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกจะปรับตัวสูงขึ้นก็ตาม แต่ในอีกแง่หนึ่ง ไอเอ็มเอฟตั้งข้อสังเกตว่า ภาวะชะลอตัวที่คาดการณ์ไว้ในจีน และภาวะทางการเงินในต่างประเทศที่ตึงตัวมากขึ้น อาจสร้างแรงกดดันต่อการขยายตัวของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่
ทั้งนี้ จีนเป็นปัจจัยภายนอกที่สำคัญสำหรับตลาดเกิดใหม่หลายประเทศ โดยการขยายตัวที่แข็งแกร่งของจีนได้ช่วยชดเชยผลกระทบในช่วงวิกฤตการเงินโลกด้อย่างมีนัยสำคัญ ช่วงระยะเปลี่ยนผ่านของจีนสู่การขยายตัวอย่างยั่งยืนมากขึ้นแต่เป็นไปในอัตราที่ชะลอตัวนั้น จะมีอิทธิพลต่ดการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศเกิดใหม่อื่นๆ
รายงานดังกล่าวเสนอมุมมอง 2 ขั้วเกี่ยวกับการขยายตัวในประเทศตลาดเกิดใหม่ มุมมองหนึ่งชี้ว่า การชะลอตัวในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ เป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ หลังจากช่วงหลายปีแห่งการขยายตัวที่รวดเร็ว ซึ่งได้แรงหนุนจากปัจจัยภายนอกที่ดี แต่เกิดขึ้นชั่วคราว ได้แก่ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูง
ในทางตรงข้าม มุมมองอีกขั้วระบุว่า การปรับตัวทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นของประเทศตลาดเกิดใหม่ ได้รับแรงหนุนจากการปฏิรูปเชิงโครงสร้างและนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่แข็งแกร่ง สำนักข่าวซินหัวรายงาน