“หนี้สาธารณะของญี่ปุ่นมีขนาดเป็นสองเท่าของเศรษฐกิจ และย่ำแย่ที่สุดในบรรดาประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก ขณะที่รายจ่ายด้านสวัสดิการสังคมกำลังปรับตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ" ลอเรนท์ ซินแคลร์ นักวิเคราะห์วิจัยอิสระ ซึ่งเชี่ยวชาญด้านกิจการแปซิฟิก กล่าว
อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายหวั่นเกรงว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าว ซึ่งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ที่มีการขึ้นภาษีการขายเป็น 5% จาก 3% เมื่อปี 2540 อาจส่งผลให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นหยุดชะงักในระยะยาว
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในปีนี้ โดยระบุว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมของญี่ปุ่นจะชะลอตัว อันเป็นผลพวงมาจากการขึ้นภาษีการบริโภคเป็นสองเท่าโดยเว้นระยะห่างออกเป็นสองช่วง (รัฐบาลของนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ วางแผนที่จะขึ้นอัตราภาษีอีกคำรบหนึ่งเป็น 10% ในเดือนต.ค. 2558)
ในรายงาน World Economic Outlook ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 8 เม.ย. ไอเอ็มเอฟได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในปี 2557 ลงสู่ระดับ 1.4% จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ 1.7% ในเดือนม.ค. ซึ่งญี่ปุ่นนับเป็นประเทศเดียวในบรรดาประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วที่ถูกไอเอ็มเอฟปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจ
ขณะที่ผลการสำรวจความคิดเห็นบริษัทขนาดใหญ่รายไตรมาส หรือผลสำรวจทังกันของธนาคารกลางญี่ปุ่นเผยให้เห็นว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ผลิตรายใหญ่ของประเทศ อาทิ ผู้ผลิตรถยนต์ และบริษัทด้านเทคโนโลยี ปรับตัวขึ้นเพียง 1 จุดจากเมื่อสามเดือนก่อน สู่ระดับ 17 จุดในเดือนมี.ค.2557 ซึ่งต่ำกว่าการคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ แต่ประเด็นที่น่าจับตามองในผลสำรวจครั้งล่าสุดนี้ก็คือ บริษัทรายใหญ่ทั้งในภาคการผลิตและนอกภาคการผลิตต่างมองว่า สถานการณ์จะย่ำแย่ลงในช่วงสามเดือนข้างหน้า เนื่องจากการขึ้นภาษีเริ่มมีผลบังคับใช้ในช่วงเวลาเดียวกับที่การส่งออกกำลังซบเซา
ผลสำรวจทังกันเผยว่า ความเชื่อมั่นของบริษัทผู้ผลิตขนาดใหญ่ ร่วงลง 9 จุด มาอยู่ที่ระดับ 8 ขณะที่ความเชื่อมั่นของบริษัทขนาดใหญ่นอกภาคการผลิต รวมถึงบริษัทผู้ผลิตขนาดเล็ก และบริษัทขนาดเล็กนอกภาคการผลิต ร่วงลงถึง 11 จุด มาอยู่ที่ 13 ซึ่งเน้นย้ำให้เห็นว่าบริษัทต่างๆกำลังรู้สึกถึงความยากลำบากจากการขึ้นภาษี
ทั้งนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นเองก็ตระหนักถึงประเด็นดังกล่าว และไม่ได้นิ่งนอนใจแต่อย่างใด โดยนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะได้สั่งการให้รัฐบาลศึกษาความเป็นไปได้ในการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยความหวังว่าจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากการขึ้นภาษีการขายได้
อัตราภาษีนิติบุคคลของญี่ปุ่นอยู่ที่ 35.6% ซึ่งสูงกว่าอัตราภาษีของประเทศชั้นนำอื่นๆ อาทิ จีน และสิงคโปร์ ซึ่งอยู่ที่ 25% และ 17% ตามลำดับ การลดภาษีนิติบุคคลจะช่วยส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของญี่ปุ่น และยังช่วยชดเชยผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากการขึ้นภาษีการขาย
อย่างไรก็ดี แม้บริษัทญี่ปุ่นเรียกร้องให้มีการลดภาษีดังกล่าว แต่ความจริงแล้วในปัจจุบันมีบริษัทญี่ปุ่นราว 30% เท่านั้นที่ชำระภาษี ส่วนบริษัทที่เหลือได้รับการงดเว้นภาษี เนื่องจากผลการดำเนินงานทางธุรกิจย่ำแย่
ดังนั้น จึงยังคงมีคำถามคาใจว่า รัฐบาลทำอะไรมากพอหรือยังที่จะพยุงเศรษฐกิจ สนับสนุนการขยายตัว และกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภคในช่วงหลายเดือนข้างหน้า ซึ่งคงมีแต่เวลาเท่านั้นที่จะบอกได้
ปลาใหญ่กินปลาเล็ก
ดูเหมือนว่าธุรกิจขนาดเล็กจะเจอปัญหาหนักอกหนักใจไม่น้อยไปกว่าใคร ในขณะที่ต่างฝ่ายต่างพยายามดิ้นรนเอาตัวรอดจากการแบกรับภาษีที่เพิ่มสูงขึ้น
รัฐบาลญี่ปุ่นได้ว่าจ้างผู้ตรวจสอบพิเศษราว 600 คน เพื่อป้องกันไม่ให้ธุรกิจขนาดใหญ่ส่งต่อภาระภาษีที่เพิ่มสูงขึ้นไปยังบรรดาซัพพลายเออร์และผู้รับจ้างผลิต
จากการลงพื้นที่ พบว่าธุรกิจขนาดเล็กหลายแห่งกำลังถูกบรรดาบริษัทผู้ผลิตรายใหญ่ใช้ลูกไม้หรือกลวิธีต่างๆนานาเพื่อกดดันให้ลดราคา
เจ้าของบริษัทผลิตชิ้นส่วนเครื่องจักรรายหนึ่งในเขตโอตะของโตเกียว ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานขนาดเล็กหลายแห่ง เผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ ลูกค้าเจ้าใหญ่เพิ่งขอลดราคาชิ้นส่วนลง 10% ไม่เช่นนั้นก็จะเปลี่ยนไปใช้ซัพพลายเออร์รายอื่นแทน
การปฏิเสธคำขออาจส่งผลต่อความอยู่รอดของบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนรายนี้ แต่หากยอมทำตามความประสงค์ของลูกค้า ก็จะหมายถึงการสูญเสียรายได้หลายสิบล้านเยนต่อปี และจะทำให้บริษัทประสบกับความยากลำบากในการจ่ายเงินเดือนให้กับลูกจ้างประมาณ 50 คน
ในที่สุดประธานบริษัทรายนี้ก็ตัดสินใจปฏิเสธข้อเสนอ และได้ร้องเรียนเรื่องนี้ต่อผู้ตรวจสอบของรัฐบาล ในระหว่างที่ผู้ตรวจสอบได้มาตรวจเยี่ยมบริษัทของเขาเมื่อเดือนที่แล้ว
ก่อนการขึ้นภาษีการบริโภคเมื่อวันที่ 1 เม.ย. รัฐบาลได้เร่งผลักดันกฎหมายที่ห้ามบริษัทขนาดใหญ่ใช้อิทธิพลบีบซัพพลายเออร์และบริษัทรับจ้างผลิต เพื่อชดเชยกับภาระภาษีที่เพิ่มสูงขึ้น
ภายใต้กฎหมายดังกล่าวซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อเดือนต.ค.นั้น บริษัทขนาดใหญ่ถูกห้ามไม่ให้ต่อรองขอลดราคา หรือเสนอเงื่อนไขต่างตอบแทน (quid pro quo) อื่นๆ
กฎหมายดังกล่าวอาศัยบทเรียนที่ได้จากการขึ้นภาษีการขายจาก 3% เป็น 5% เมื่อปี 2540 หรือเมื่อ 17 ปีก่อน โดยธุรกิจขนาดเล็กจำนวนมากร้องเรียนว่าพวกเขาไม่สามารถเรียกเก็บเงินลูกค้าที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ได้
ในญี่ปุ่นนั้น ธุรกิจขนาดเล็กมีสัดส่วนถึง 99.7% ของบริษัททั้งหมด หากธุรกิจขนาดเล็กถูกบีบให้ต้องแบกรับภาระจากการขึ้นภาษี เนื่องจากไม่สามารถคิดเงินลูกค้าได้ ก็อาจจะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
สำหรับผู้ตรวจสอบพิเศษของรัฐบาลนั้นมาจากภูมิหลังที่หลากหลาย เช่น นายธนาคาร นักบัญชีภาษี เจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมถึงอดีตเจ้าหน้าที่จัดซื้อที่มีประสบการณ์และความชำนาญในระเบียบปฏิบัติทางธุรกิจ
ณ สิ้นเดือนมี.ค. ผู้ตรวจสอบพิเศษเหล่านี้ได้ออกหมายเรียกบริษัท 1,199 แห่ง ซึ่งประกอบด้วย 489 บริษัทในภาคการผลิต, 233 บริษัทในธุรกิจค้าปลีก และ 145 บริษัทในอุตสาหกรรมขนส่ง
หนึ่งในนั้นได้แก่ ผู้ประกอบการโรงแรมซึ่งได้รับใบเรียกเก็บเงินจากซัพพลายเออร์ แต่ไม่ยอมชำระจนกระทั่งซัพพลายเออร์หักลบในส่วนของภาษีออก ขณะที่ผู้ค้าปลีกรายใหญ่รายหนึ่งขอให้ซัพพลายเออร์หักค่าใช้จ่ายในการเตรียมป้ายราคาที่ทางร้านจะใช้ภายหลังการขึ้นภาษี
กรณีเหล่านี้และกรณีอื่นๆที่ถูกรายงานให้ผู้ตรวจสอบได้รับทราบนั้น อาจดูเหมือนเป็นปัญหาเล็กๆน้อยๆ แต่ใครเลยจะรู้ว่าปัญหายิบย่อยเหล่านี้อาจลุกลามเป็นปัญหาใหญ่ได้ ขณะที่มีเสียงเรียกร้องมากขึ้นให้รัฐบาลเปิดเผยรายชื่อบริษัทที่ละเมิดกฎหมาย
“หลายบริษัทไม่สามารถพูดกับผู้ตรวจสอบของรัฐบาลได้ เนื่องจากกลัวว่าหุ้นส่วนธุรกิจจะรู้เข้า" โนบุชิกะ ชิมิสุ ผู้ตรวจสอบอาวุโส วัย 61 ปีเผย “สิ่งแรกที่ผู้ตรวจสอบต้องทำก็คือการสร้างความไว้วางใจ"
เซนโตเรน (Zentoren) สมาคมอุตสาหกรรมเต้าหู้ ซึ่งประกอบไปด้วยธุรกิจขนาดเล็กประมาณ 2,000 แห่งจากทั่วประเทศ ระบุว่า ทางสมาคมได้รับฟังมาจากสมาชิกว่าบรรดาหุ้นส่วนธุรกิจได้ขอให้พวกเขาตรึงราคาผลิตภัณฑ์ในระดับเดียวกับก่อนขึ้นภาษี
“การกระทำเช่นนี้ผิดกฎหมายอย่างชัดเจน" เจ้าหน้าที่ของเซนโตเรนกล่าวถึงแรงกดดันที่ซัพพลายเออร์ต้องแบกรับ ทั้งนี้ อุตสาหกรรมเต้าหู้เผชิญสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ลำบากอยู่แล้วอันเนื่องมาจากเงินเยนอ่อนค่า ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนในการซื้อถั่วเหลืองนำเข้าปรับตัวสูงขึ้น
ในทางกลับกัน ธุรกิจขนาดใหญ่กำลังหาทางหลีกเลี่ยงกฎหมายอย่างเห็นได้ชัดเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ใช้คำว่า “ภาษีการบริโภค" เมื่อขอลดราคา และชี้แจงกับผู้ตรวจสอบว่าการกระทำดังกล่าวเป็น “ส่วนหนึ่งของความพยายามในการลดต้นทุนตามปกติ"
ดังนั้น จึงเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับผู้ตรวจสอบพิเศษที่จะต้องทำการบ้านด้วยการรับฟังผู้รับจ้างผลิตและรวบรวมหลักฐานให้เพียงพอก่อนเอาผิดผู้ฝ่าฝืนกฎหมาย
ผู้บริหารรายหนึ่งในอุตสาหกรรมอาหารแสดงความกังวลว่า บริษัทรายใหญ่อาจเดินหน้าต่อราคาอย่างผิดกฎหมายในเดือนนี้ เพราะมีการคาดการณ์ในวงกว้างว่าการใช้จ่ายผู้บริโภคจะชะลอตัว และความต้องการสินค้าและบริการจะอ่อนแอลง อันเป็นผลมาจากการที่ผู้บริโภคแห่ซื้อสินค้าและบริการก่อนที่การขึ้นภาษีจะมีผลบังคับใช้ เนื่องจากภาษีการบริโภคมีผลครอบคลุมผลิตภัณฑ์และบริการเกือบทั้งหมดในญี่ปุ่น
ในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 8 เม.ย. นายโทชิมิทสึ โมเทกิ รัฐมนตรีเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม ระบุถึงความสำคัญของการคุ้มครองธุรกิจขนาดเล็กให้อยู่รอดในยามขึ้นภาษี “เราจะยังคงเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างจริงจัง"
โดยรัฐบาลวางแผนที่จะดำเนินการสำรวจธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอีในญี่ปุ่นอย่างครอบคลุม ซึ่งรวมทั้งสิ้นประมาณ 3.85 ล้านราย เพื่อดูว่าธุรกิจเหล่านี้เผชิญกับข้อเรียกร้องที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่
เสียงสะท้อนจากผู้บริโภคและธุรกิจรายย่อย
ผู้บริโภคถือเป็นด่านแรกที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการขึ้นภาษีการขาย โดยสำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นเปิดเผยในวันที่ 17 เม.ย.ว่า ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมี.ค.ปรับตัวลงเป็นเดือนที่สี่ติดต่อกัน และแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนส.ค.2554 หรือในรอบสองปีครึ่ง
ดัชนีความเชื่อมั่นในครัวเรือนที่มีสมาชิกตั้งแต่สองคนขึ้นไป ลดลง 1.0 จุด จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ 37.5 ซึ่งตัวเลขที่ต่ำกว่า 50 บ่งชี้ว่า ผู้บริโภคที่มีมุมมองลบต่อเศรษฐกิจมีจำนวนมากกว่าผู้มีมุมมองบวก
ชิโยมิ โอเซกิ พนักงานร้านดรักสโตร์ยอดนิยมในย่านชิบูยา เผยว่า มีเสียงบ่นจากลูกค้าเกี่ยวกับการขึ้นราคาสินค้าตั้งแต่วันแรก
“บางทีอาจเป็นเพราะย่านนี้เป็นย่านวัยรุ่น พวกเขากล้าที่จะแสดงความคิด เด็กสาวบางคนซึ่งปกติมาที่ร้านเพื่อซื้อสินค้าประเภทความงามและสุขภาพทั่วไป ถึงกับทำใบเสร็จร่วง เพราะราคาสินค้าไม่ได้เปลี่ยนแปลงมานานแล้ว"
“จริงๆแล้ว เด็กสาวเหล่านี้ต้องได้ยินข่าวและประกาศของเรากันมาแล้ว แต่ฉันคิดว่าพวกเธอเพียงต้องการแสดงให้คนอื่นๆเห็นว่าพวกเธอไม่พอใจ" โอเซกิกล่าว พร้อมเผยด้วยว่า เธอสังเกตว่าลูกค้าเลือกซื้อยาสามัญที่ถูกกว่า แทนที่จะเลือกซื้อแบรนด์ราคาแพง
เคนตะ ทสึรูมิ ผู้จัดการร้านนาฬิกาข้อมือระดับไฮเอนด์ในย่านโอโมเตะซันโด ซึ่งเป็นย่านช็อปปิ้งหรูหราไฮโซของโตเกียว กล่าวว่า ยอดขายทะยานขึ้นในช่วงก่อนขึ้นภาษี แต่มาตอนนี้ ธุรกิจเริ่มที่จะชะลอลงแล้วอย่างเห็นได้ชัด
“เป็นเพราะการขึ้นภาษีอย่างไม่ต้องสงสัย เราตักตวงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ธุรกิจของเราบูมขึ้นมากในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา โดยเราสามารถทำยอดขายได้สูงเป็นประวัติการณ์" ทสึรูมิกล่าว
“น่าเหลือเชื่อที่การขึ้นภาษี 3% สร้างความแตกต่างได้อย่างมากมายในธุรกิจนี้ เราไม่มีลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำมากเท่าไรนัก ลูกค้าซื้อนาฬิกาเพื่อใช้เองหรือซื้อเป็นของขวัญ ซึ่งโดยปกติแล้วก็จะซื้อกันแค่ครั้งเดียว ถ้าเป็นเช่นนั้น ลูกค้าที่เดินเข้าออกร้านของเราในช่วงสี่เดือนที่ผ่านมาจะไปอยู่ที่ไหนกัน แล้วเราจะทำอย่างไรต่อจากนี้"
“อย่าแปลกใจหากไม่เห็นร้านนี้อยู่ที่นี่ในอีกหกเดือนข้างหน้า เรื่องนี้ต้องขอบคุณอาเบะ“ ทสึรูมิกล่าว