เอดีบีระบุว่า ประชากรกว่า 1.6 พันล้านคนที่ดำรงชีวิตด้วยเงินไม่ถึง 2 ดอลลาร์สหรัฐต่อวันยังคงอยู่ในภาวะย่ำแย่มากถึงมากที่สุด
“พวกเขายังคงเผชิญกับความเสี่ยงที่จะกลับไปสู่ภาวะยากจนอย่างรุนแรงเนื่องด้วยการไม่มีงานทำ ปัญหาสุขภาพ ภาวะเศรษฐกิจถดถอยเรื้อรัง อัตราเงินเฟ้อ การทำเกษตรล้มเหลว ภัยธรรมชาติต่างๆ หรือความวุ่นวายทางสังคม" รายงานของเอดีบีเผย
รายงานของเอดีบีซึ่งประเมินกรอบการทำงานด้านยุทธศาสตร์ระยะยาวชื่อ “ยุทธศาสตร์ 2563" ระบุว่า ราคาอาหารที่อยู่ในระดับสูงเป็นสาเหตุหลักของปัญหาความยากจน อีกทั้งการพุ่งขึ้นของราคาอาหารยังส่งผลกระทบต่อคนยากจนที่ยอมจ่ายเงินมากกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้ตนเองเป็นค่าอาหาร
ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกเป็นแหล่งอาศัยของคนยากไร้มากถึง 60% ของทั้งโลก โดยประชากรราว 733 ล้านคนในเอเชีย-แปซิฟิกยังคงดำรงชีพด้วยเงินเพียง 1.25 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน – เงินจำนวนดังกล่าวก็เปรียบเหมือนกับจุดเริ่มต้นสู่ความยากจนแสนสาหัส
นายทาเคฮิโกะ นากาโอะ ประธานเอดีบีกล่าวว่า “ความท้าทายของเอดีบีก็คือการช่วยประเทศสมาชิกที่กำลังพัฒนาให้สามารถขจัดปัญหาความยากจนที่ยังคงอยู่ให้หมดไป พร้อมทั้งสนับสนุนการกระจายรายได้อย่างครอบคลุมเพื่อแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียม รวมถึงพยายามส่งเสริม และเข้าถึงประเทศที่มีรายได้ปานกลางให้มากขึ้น"
เอดีบียังเผยว่า ธนาคารกำลังปรับปรุงการดำเนินงานใหม่เพื่อมุ่งสร้างความเท่าเทียม ความยืดหยุ่น และส่งเสริมการให้ความช่วยเหลือประเทศที่มีรายได้ปานกลาง
นอกจากนี้ เอดีบีได้กำหนดยุทธศาสตร์สำคัญ 10 ประการแรกในการ “พัฒนา และสร้างสมดุล" ของการดำเนินงาน และเสริมสร้างแนวทางการแก้ไขปัญหาสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่กำลังเปลี่ยนแปลง ตลอดจนเพิ่มศักยภาพ และประสิทธิภาพของหน่วยงานให้มากขึ้น
ทั้งนี้ เอดีบีระบุว่า จะยังคงให้ความสำคัญกับโครงสร้างพื้นฐานซึ่งมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการบรรเทาภาวะความยากจน พร้อมส่งเสริมการขยายตัวของเศรษฐกิจในวงกว้าง และลงทุนในด้านสุขภาพ และการศึกษาเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า สำนักข่าวซินหัวรายงาน