หลังจากที่ปล่อยให้เป็นกระแสข่าวลือนานเป็นแรมเดือน ล่าสุด ไฟเซอร์ (Pfizer) บริษัทเวชภัณฑ์ยักษ์ใหญ่ระดับโลก ได้ออกมายืนยันทางเว็บไซต์ pfizer.com ถึงการหารือก่อนหน้านี้กับบริษัท แอสทราเซเนกา (AstraZeneca) แล้วว่า ไฟเซอร์สนใจเข้าซื้อกิจการของแอสทราเซเนกา เป็นวงเงินเกือบหนึ่งแสนล้านดอลลาร์ ขณะที่ทางแอสทราเซเนกาได้ออกมาปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว โดยชี้ว่าข้อเสนอดังกล่าวมีมูลค่าน้อยเกินไป อย่างไรก็ตามทางไฟเซอร์ยังไม่ลดละความพยายามที่จะเปิดการเจรจาต่อไป ซึ่งแถลงการณ์จากไฟเซอร์ในครั้งนี้ ได้ส่งผลให้ทั้งตลาดยุโรป ลอนดอน และนิวยอร์ก ตอบรับด้วยการปิดในแดนบวกทั่วกัน
*ทำความรู้จักกับสองบริษัทยายักษ์ใหญ่ของโลก
ไฟเซอร์ อิงค์ (Pfizer, Inc.) บริษัทเวชภัณฑ์ยักษ์ใหญ่สัญชาติอเมริกัน ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่มหานครนิวยอร์ก และสำนักงานวิจัยหลักอยู่ที่เมืองโกรตัน รัฐคอนเคทิคัต เป็นบริษัทเวชภัณฑ์รายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกในแง่ของรายได้ ด้วยเครือข่ายสำนักงานที่กระจายตัวอยู่ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ไฟเซอร์เป็นผู้ผลิต/พัฒนายาและวัคซีนในหลายๆแขนงด้วยกัน และยังเป็นผู้คิดค้นยาไวอะกร้า (Viagra) ยาที่ใช้รักษาอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ อันโด่งดังไปทั่วโลกนั่นเอง
ด้านแอสทราเซเนกาเองก็มีผลงานไม่น้อยหน้าใคร โดยแอสทราเซเนกา พีแอลซี (AstraZeneca plc) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2542 จากการควบรวมบริษัทแอสทรา เอบี ของสวีเดน และบริษัทเซเนกา กรุ๊ป ของอังกฤษ เป็นบริษัทเวชภัณฑ์และชีวภาพสัญชาติอังกฤษ-สวีเดน ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร และถูกจัดอันดับให้เป็นบริษัทเวชภัณฑ์รายใหญ่ที่สุดเป็นอันดับเจ็ดของโลก แอสทราเซเนกาดำเนินธุรกิจในกว่า 100 ประเทศ รวมถึงไทยด้วยเช่นกัน และนำเสนอผลิตภัณฑ์รักษาโรคในหลากหลายแขนง เช่น มะเร็ง หัวใจและหลอดเลือด ทางเดินอาหาร การติดเชื้อ ประสาทวิทยา การหายใจ และการอักเสบ
*ทำไมต้องเป็นแอสทราเซเนกา
แม้ว่า ไฟเซอร์เคยถูกปฏิเสธข้อเสนอไปแล้ว อีกทั้งทางแอสทราเซเนกาก็ไม่ได้แสดงความสนใจที่จะเปิดการเจรจาเพิ่มเติม แต่สถานการณ์ดังกล่าวก็ไม่ได้ทำให้ไฟเซอร์ลดละความพยายาม ทั้งๆที่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ไฟเซอร์ได้ยกเลิกการว่าจ้าง ตัดงบประมาณการวิจัย อีกทั้งสั่งยุติธุรกิจที่ดูจะไม่มีศักยภาพเป็นจำนวนมากเพื่อลดค่าใช้จ่ายส่วนเกิน อันเป็นผลจากการทุ่มซื้อกิจการต่างๆในอดีต
ด้านผู้เชี่ยวชาญชี้แจงถึงเหตุผลเบื้องหลังของความสนใจที่จะซื้อกิจการว่า ไฟเซอร์มีความสนใจเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนายาระยะเริ่มแรก ในส่วนของการรักษาโรคมะเร็ง โดยเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ฝ่าย R&D ของแอสทราเซเนกาได้ประกาศข้อตกลงร่วมกับอิมมูโนคอร์ ลิมิเต็ด (Immunocore Limited) เพื่อดำเนินการวิจัยและพัฒนาวิธีการรักษาโรคมะเร็งแบบใหม่ ผ่านเทคโนโลยี ImmTAC อันเป็นตัวยาที่ใช้เซลล์คุ้มกันในร่างกายเพื่อตรวจหาและกำจัดเซลล์ที่ตายแล้วออกไป หากตัวยาประสบความสำเร็จอย่างแท้จริงแล้ว นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า จะเป็นการเปิดตลาดใหม่ที่มีมูลค่าสูงถึง 3.5 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งก็น่าจะเป็นปรากฏการณ์ครั้งยิ่งใหญ่ในอุตสาหกรรมได้อย่างไร้ข้อกังขา
นอกจากนี้ แอสทราเซเนกายังเป็นผู้คิดค้นยา Crestor ลดคอเลสเตอรอลที่มียอดขายสูงถึง 5.62 ล้านดอลลาร์ รวมถึงยา Symbicort รักษาโรคหืดที่มียอดขายกว่า 3.48 พันล้าน และยา Nexium ลดอาการแสบร้อนบริเวณหน้าอกที่มียอดขาย 3.88 พันล้าน ซึ่งทั้งหมดนี้จะอยู่ภายใต้การครอบครองของไฟเซอร์ หากการซื้อกิจการเกิดขึ้นจริง
ด้วยเหตุผลนี้เองที่น่าจะทำให้ไฟเซอร์ออกมาทุ่มทุนอย่างหนัก เมื่อดูในส่วนของข้อเสนอแล้วมีมูลค่ารวมกันราว 9.87 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นข้อเสนอซื้อกิจการที่ถูกมองว่ามีมูลค่าสูงที่สุดในบรรดาบริษัทอังกฤษ อีกทั้งสูงสุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นในวงการ (แต่ทว่าแอสทราเซเนกามองว่าน้อยไป) โดยในการประชุมระหว่างไฟเซอร์และแอสทราเซเนกา เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2557 ณ มหานครนิวยอร์ก ทางไฟเซอร์ได้ยื่นข้อเสนอเบื้องต้นอันประกอบไปด้วยเงินสดและหุ้น แยกเป็นเงินสดจำนวน 13.98 ปอนด์ (30%) และหุ้นไฟเซอร์ 1.758 หุ้น (70%) ต่อหุ้นของแอสทราเซเนกา ซึ่งคิดมูลค่าหุ้นของแอสทราเซเนกาได้ที่ 46.61 ปอนด์/หุ้น
อย่างไรก็ตาม แอสทราเซเนกาได้ปัดข้อเสนอดังกล่าวลง พร้อมชี้ว่าข้อเสนอที่ได้รับนั้นมีมูลค่าต่ำเกินควร อีกทั้งยังได้แสดงความวิตกต่อท่าทีของไฟเซอร์ ที่ต้องการเสนอซื้อกิจการด้วยหุ้นแทนเงินสดเป็นสัดส่วนถึง 70% ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนชี้ว่า หากไฟเซอร์ต้องการแอสทราเซเนกาจริงๆ ก็จำเป็นต้องเพิ่มราคาหุ้นอย่างน้อยให้มากกว่า 50 ปอนด์ขึ้นไป และมองว่าการที่ไฟเซอร์ได้ออกแถลงการณ์ยืนยันข่าวลือดังกล่าว ก็เหมือนกับเป็นการบังคับกลายๆให้แอสทราเซเนกาออกมาตอบรับข้อเสนอในที่สุด
*ผลพลอยได้ด้านภาษี
นอกเหนือจากผลประโยชน์ในสายผลิตภัณฑ์ขององค์กรแล้ว ไฟเซอร์ยังถูกสื่อต่างประเทศวิเคราะห์และมองว่ามีเจตนาเลี่ยงภาษีอีกด้วย ทั้งนี้หากข้อเสนอข้างต้นประสบความสำเร็จ คาดว่า ไฟเซอร์จะย้ายที่อยู่ตามกฎหมายไปยังต่างประเทศที่บังคับจ่ายภาษีในระดับที่ต่ำกว่า ขณะที่คณะผู้บริหารระดับสูงจะยังคงประจำการอยู่ในสหรัฐ
เมื่อพิจารณาถึงอัตราภาษีของสหราชอาณาจักรแล้ว อัตราภาษีนิติบุคคลปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 21% และจะถูกปรับลดลงเหลือ 20% ในปีนี้ โดยไม่มีการคิดภาษีในส่วนของธุรกิจนอกประเทศ
นอกจากนี้ยังมีนโยบาย Patent Box ที่จะนำรายได้ส่วนที่มาจากสิทธิบัตรมาคิดภาษีเพียง 10% เท่านั้น เพื่อสนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆในประเทศ ซึ่งทางไฟเซอร์เองก็น่าจะให้ความสนใจในปัจจัยดังกล่าวเช่นกัน
ในทางกลับกัน อัตราภาษีนิติบุคคลของสหรัฐนั้นสูงถึง 35% ซึ่งนับว่าสูงที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วทั้งหมด และยังคิดภาษีจากผลกำไรของบริษัทในต่างประเทศที่ส่งกลับสหรัฐอีกด้วย
*ฤดูซื้อขายแลกเปลี่ยนครั้งสำคัญแห่งวงการเภสัชกรรม
ปัจจุบันอุตสาหกรรมดูแลสุขภาพกำลังอยู่ในช่วงของการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ ที่เรียกได้ว่าคึกคักที่สุดในรอบหลายปี นอกจากไฟเซอร์เองแล้วบรรดาคู่แข่งรายอื่นๆก็ไม่น้อยหน้า โดยเหล่าบริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการเภสัชกรรมโลกอย่างวาเลียนท์ ฟาร์มาซูติคอลส์ โนวาร์ทิส และไมแลน ก็อยู่ระหว่างการเสนอซื้อกิจการครั้งใหญ่เช่นเดียวกัน ภายหลังจากที่สินค้าทำเงินของบริษัทบางตัวสูญเสียการคุ้มครองด้านสิทธิบัตร ประกอบกับงบประมาณพัฒนายาตัวใหม่ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา วาเลียนท์ ฟาร์มาซูติคอลส์ (Valeant Pharmaceuticals) บริษัทเภสัชภัณฑ์ผิวหนังจากแคนาดา ได้ยื่นข้อเสนอเพื่อซื้อกิจการของอัลเลอแกน (Allergan) ผู้ผลิตโบท็อกซ์รายใหญ่ของโลก ด้วยเงินสดและหุ้นในลักษณะเดียวกับไฟเซอร์ โดยคิดเป็นมูลค่ารวมกันราว 4.57 หมื่นล้านดอลลาร์
ในขณะเดียวกัน โนวาร์ทิส (Novartis) ของสวิตเซอร์แลนด์ ยังมีมติซื้อธุรกิจยารักษาโรคมะเร็งของแกล็กโซสมิธไคลน์ (GlaxoSmithKline) ของอังกฤษ เป็นวงเงินราว 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์ พร้อมกับขายธุรกิจวัคซีนเกือบทั้งหมดแก่ทางแกล็กโซในวงเงิน 7.1 พันล้าน
ด้านไมแลน (Mylan) ผู้ผลิตยาสามัญรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐ ได้ยื่นข้อเสนอซื้อกิจการของเมด้า เอบี (Meda AB) จากสวีเดน อีกหลังจากที่ถูกปฏิเสธก่อนหน้า โดยในครั้งนี้ได้เพิ่มมูลค่าข้อเสนอเป็น 6.7 พันล้านดอลลาร์
*อนาคตอันสดใสหลังควบรวมกิจการ
ท่ามกลางโอกาสทางการแข่งขันในอุตสาหกรรมยา ที่ทุกฝ่ายสามารถก้าวขึ้นเป็นที่หนึ่ง หรือตกอันดับลงแบบกู่ไม่กลับ หากข้อเสนอของไฟเซอร์ได้รับการตอบรับ และมีการซื้อกิจการขึ้นในที่สุด บรรดานักวิเคราะห์เชื่อว่า ไฟเซอร์จะสามารถขึ้นแท่นผู้ผลิตยาอันดับหนึ่งของโลกได้อีกครั้ง
ในส่วนของการพัฒนายารักษาโรคมะเร็งที่ไฟเซอร์ให้ความสนใจแล้ว ผู้เชี่ยวชาญในแวดวงการแพทย์เชื่อว่า เมื่อไฟเซอร์และแอสทราเซเนการ่วมงานกัน ทั้งสองก็มีศักยภาพก้าวขึ้นทำเนียบผู้นำในวงการรักษามะเร็งในระดับโลก โดยทางแอสทราเซเนกา ซึ่งคาดว่าจะมีการเปิดเผยรายงานการทดสอบตัวยาขั้นทดลองเบื้องต้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ได้ประกาศว่าทางองค์กรมีแผนจัดการทดสอบยาขั้นสุดท้ายแก่ผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดในเร็วๆนี้
แม้ว่าการพัฒนายาในขั้นทดลองนั้นอาจแลดูมีความเสี่ยงสูง ในแง่ของผลลัพธ์ที่อาจประสบความสำเร็จอย่างถล่มทลายหรือล้มเหลวไม่เป็นท่า แต่ก็นับว่าเป็นความเสี่ยงที่น่าลงทุนเพื่อคว้าชัยชนะเหนือบรรดาคู่แข่งในตลาดยาที่มีการแข่งขันสูง ทั้งนี้ทางแอสทราเซเนกา จะตอบรับข้อเสนอครั้งยิ่งใหญ่เพื่อก้าวขึ้นเป็นผู้นำร่วมกับไฟเซอร์ หรือบอกปัดโอกาสดังกล่าวอีกครั้ง และหากมีการซื้อกิจการเกิดขึ้นจริงแล้ว ทั้งสองจะสามารถพัฒนาตัวยาที่อาจพลิกโฉมวิธีการรักษาโรคจนประสบความสำเร็จในเชิงพาณิชย์ และทำรายได้อย่างล้นหลามตามความมุ่งหวังหรือไม่ ย่อมเป็นความเคลื่อนไหวที่น่าติดตามต่อไป