รายงานของสำนักงานระบุว่า จีดีพีของโปรตุเกสปรับตัวลดลง 0.6% ในช่วงระหว่างเดือนม.ค.-มี.ค. โดยส่วนหนึ่งมาจากการปิดโรงกลั่นน้ำมัน Galp เป็นการชั่วคราว
ตัวเลขดังกล่าวปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับที่ INE คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนที่แล้วว่าจะหดตัวลง 0.7% แต่ก็ยังทำสถิติปรับตัวลงหนักเป็นประวะติการณืนับแต้งแต่ที่โปรตุเกสได้รับเงินช่วยเหลือจากกลุ่มทรอยก้า ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ปล่อยกู้ระหว่างประเทศ เมื่อเดือนพ.ค.2554
ทั้งนี้ การส่งออกได้ส่งผลกระทบมากที่สุดต่อจีดีพีของโปรตุเกส โดยได้ปรับตัวลง 1.1% ขณะที่การลงทุนขยายตัว 1.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556 แต่หดตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า
โปรตุเกส ซึ่งเป็นประเทศที่ประสบปัญหาหนี้สิน ได้พึ่งพาการส่งออกและการลงทุนในการผลักดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศได้เกินดุลเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 1960
โปรตุเกสกำลังพยายามดำเนินการปฏิรูปโครงสร้างของประเทศเพื่อให้สอดคล้องกับเงื่อนไขการกู้ยืมเงินจำนวน 7.8 หมื่นล้านยูโร (1.06 แสนล้านดอลลาร์) ที่ได้ลงนามไปเมื่อเดือนพ.ค.2554 ร่วมกับคณะกรรมาธิการยุโรป, กองทุนการเงินระหว่างประเทศ และธนาคารกลางยุโรป
ถึงแม้ว่าโปรตุเกสจะสามารถออกจากโครงการขอรับความช่วยเหลือทางการเงินได้เมื่อไม่นานมานี้ แต่ภาระหนี้สินของประเทศยังคงอยู่ในระดับสูง และธุรกิจหลายพันแห่งต้องได้ปิดตัวลง ประชาชนหลายพันคนประสบกับปัญหาการว่างงานหรือเผชิญกับสภาพการทำงานที่ย่ำแย่ ขณะที่เงินเดือนขั้นต่ำอยู่ในระดับต่ำกว่า 500 ยูโร
ธนาคารกลางของโปรตุเกสระบุในรายงานเสถียรภาพทางการเงินรอบครึ่งปีเมื่อเร็วๆนี้ว่า แม้ว่าการส่งออกและยอดขาดดุลงบประมาณได้ปรับตัวดีขึ้นอย่างมาก แต่เศรษฐกิจของประเทศยังคงเปราะบาง พร้อมกับเรียกร้องให้โปรตุเกสใช้มาตรการต่างๆเพื่อทำให้เศรษฐกิจของประเทศกลับมาขยายตัวอีกครั้ง สำนักข่าวซินหัวรายงาน