บรรดานักวิเคราะห์ชาวเยอรมันเชื่อว่า แผนเดินทางของนายกแมร์เคิลมีจุดมุ่งหมายเพื่อสานต่อความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างจีน-เยอรมนีในระดับทวิภาคี ซึ่งได้พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยประเด็นด้านเศรษฐกิจนั้นถูกมองว่าเป็นจุดสนใจหลักของแผนการเดินทางในครั้งนี้
การแลกเปลี่ยนในระดับสูงที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง
สื่อเยอรมนีรายงานว่า เป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดว่าจีนมีความสำคัญต่อเยอรมนีเป็นอย่างมาก เมื่อพิจารณาจากจำนวนครั้งที่นายกแมร์เคิลได้เดินทางเยือนประเทศจีน
เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา จีนและเยอรมนีมีแผนเดินทางเยือนในระดับสูงระหว่างกันบ่อยครั้ง
เมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนได้เดินทางเยือนกรุงเบอร์ลิน และในฤดูใบไม้ผลินี้เป็นคราวของเยอรมนี โดยนายแฟรงค์-วอลเตอร์ สไตน์ไมเออร์ รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนี และซิกมาร์ กาเบรียล รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจเยอรมนี ได้เดินทางไปยังกรุงปักกิ่ง และคาดว่าในช่วงฤดูใบไม้ร่วง ทางจีนน่าจะเปิดการหารือระหว่างรัฐบาลในกรุงเบอร์ลิน
ขณะนี้นายกแมร์เคิลเตรียมเดินทางเยือนจีนเป็นเวลาสามวัน โดยสื่อเยอรมนีชี้ว่า ไม่มีผู้นำยุโรปรายใดที่ได้พบปะกับผู้นำจีนบ่อยครั้งเท่าแมร์เคิลอีกแล้ว
นายเซบาสเตียน เฮลมานน์ ประธานสถาบัน Mercator Institute for China Studies (MERICS) ให้สัมภาษณ์กับสถานีดอยช์ เวเลย์ ว่า ขณะนี้ความสัมพันธ์ระหว่างจีน-เยอรมนีนั้นกำลังคึกคัก โดยแผนเดินทางของนายกแมร์เคิลมีจุดมุ่งหมายเพื่อรักษาแรงกระตุ้นนั้นไว้
นายเฮลมานน์ เชื่อว่า จุดสนใจหลักของการหารือระหว่างการเดินทางเยือนของแมร์เคิลในครั้งนี้ จะมุ่งไปที่การประชุมระดับรัฐบาลที่กำลังจะถึงในเดือนต.ค. ซึ่งจะครอบคลุมถึงประเด็นต่างๆตั้งแต่เทคโนโลยี ไปจนถึงการศึกษาและโครงการวัฒนธรรม
เขาชี้ว่า ประเด็นบางประการนั้นไม่สามารถบรรลุได้โดยคณะทำงานระดับต่ำกว่า ดังนั้นการประชุมระหว่างผู้นำทั้งสองฝ่ายจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก
การเดินทางที่แฝงด้วยวาระทางธุรกิจ
ประเด็นด้านเศรษฐกิจถูกมองว่าเป็นจุดสนใจหลักของการเดินทางไปยังจีนในครั้งนี้ โดยอิงจาก "การเอื้อประโยชน์ทางเศรษฐกิจซึ่งกัน" ที่ได้เกิดขึ้นใหม่ระหว่างจีนและเยอรมนี
ปัจจุบัน เยอรมนีเป็นพันธมิตรคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของจีนในยุโรป และในทางกลับกัน จีนเป็นพันธมิตรคู่ค้าที่มีความสำคัญที่สุดของเยอรมนีในเอเชีย และเป็นตลาดสำคัญในการส่งออกสินค้าจากเยอรมนี
นายเฮลมานน์ มองว่า ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างจีน-เยอรมนีที่เติบโตอย่างมากนั้น อยู่บนรากฐานที่ว่าทั้งสองประเทศนั้นมีเศรษฐกิจในรูปแบบที่สัมพันธ์กัน
เขาเสริมว่า "เยอรมนีจัดหาสินค้าให้กับจีนเพื่อใช้ในการพัฒนาอุตสาหกรรม อย่างเช่น เครื่องจักร เคมีภัณฑ์พิเศษ และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่สินค้าผู้บริโภคจากจีนที่มีราคาสมเหตุสมผลนั้นเป็นที่ต้องการในเยอรมนีเป็นอย่างมาก"
ความร่วมมือด้านการลงทุนระหว่างจีนและเยอรมนีนั้นไม่ได้อยู่ในรูปแบบ "ถนนวันเวย์" อีกต่อไป โดยบรรดาบริษัทจีนต่างเริ่มมีการดำเนินงานในระดับโลก และมีการลงทุนในเยอรมนี ซึ่งนายเฮลมานน์ เชื่อว่า การแข่งขันเพื่อคว้าการลงทุนจากจีนระหว่างประเทศสมาชิกยุโรปนั้นจะยกระดับขึ้นในอนาคต
ในการเดินทางเยือนประเทศจีนซึ่งจะสิ้นสุดลงในวันอังคารหน้า นายกแมร์เคิลจะเดินทางพร้อมกับคณะผู้แทนภาคธุรกิจขนาดใหญ่ รวมถึงเหล่าผู้บริหารระดับสูงจากโฟล์กสวาเกน ซีเมนส์ แอร์บัส และธนาคารดอยซ์แบงก์ โดยคาดว่าจะมีการลงนามในข้อตกลงทางเศรษฐกิจขนานใหญ่
ในวันอาทิตย์นี้ แมร์เคิลจะเดินทางเยือนเมืองเฉิงตู เมืองเอกของมณฑลเสฉวนทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน
เยอรมนีมีสถานกงสุลใหญ่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวมาถึงสิบปีแล้ว ซึ่งบริษัทเยอรมนีมองว่าเฉิงตูเป็นจุดเริ่มต้นของภูมิภาคตะวันตกของจีนที่ค่อนข้างด้อยพัฒนา โดยบริเวณดังกล่าวมีบริษัทเยอรมนีดำเนินงานอยู่ราว 160 แห่ง รวมถึงโรงงานโฟล์กสวาเกน ที่นางแมร์เคิลจะเข้าเยี่ยมชม
นอกจากนี้ สื่อเยอรมนียังชี้ว่า คณะกรรมการที่ปรึกษาว่าด้วยเศรษฐกิจระหว่างจีน-เยอรมนี ที่เพิ่งถูกก่อตั้งเมื่อไม่นานมานี้ จะพบปะกันในกรุงปักกิ่งเป็นครั้งแรก ร่วมกับนายกแมร์เคิลและประธานาธิบดีสี จิ้นผิง
นายเฮลมานน์ เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า จุดมุ่งหมายของคณะกรรมการชุดนี้อยู่ที่การแก้ไขปัญหาทางการค้าระหว่างทั้งสองประเทศ อีกทั้งเสนอข้อชี้แนะด้านนโยบายแบบเฉพาะเจาะจง ซึ่งจะถูกวิเคราะห์จากรัฐบาลทั้งสองต่อไป สำนักข่าวซินหัวรายงาน