สำหรับสาเหตุของวิกฤตนั้น บริสระบุว่า อาจจะมาจาก 8 สถานการณ์ที่เป็นไปได้ดังต่อไปนี้ อันดับแรกคือ ภาวะฟองสบู่ในตลาดหุ้น โดยเขาอธิบายว่าในปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไม่ได้ปรับตัวดีขึ้นตามความเป็นจริง นักวิเคราะห์ต่างผิดหวังกับไตรมาสแรกของปี 2557 เนื่องจากผลประกอบการที่ไม่สอดคล้องกับการคาดการณ์ของตลาด นั่นหมายความว่า หากตลาดหวนกลับไปสู่ระดับที่สมเหตุผลตามผลประกอบการ ตลาดหุ้นจะปรับตัวลดลงระหว่าง 30-35%
อันดับที่ 2 ได้แก่ ภาคธนาคารของจีน เขากล่าวว่า การขยายตัวของภาคธนาคารเงาของจีนอาจจะผลักดันให้วิกฤตรุนแรงขึ้น ทั้งนี้ ภาคธนาคารเงาเป็นระบบที่ประกอบไปด้วยเงินกู้ที่ส่วนใหญ่ปล่อยกู้ให้กับสถาบันของรัฐบาลที่ไม่มีการติดตามตรวจสอบประสิทธิภาพการดำเนินงานอย่างดีพอ และไม่เปิดให้มีการแข่งขัน หากระบบดังกล่าวล่มสลาย ก็จะส่งผลกระทบในเชิงลบต่อเศรษฐกิจโลก
อันดับที่ 3 ได้แก่ วิกฤตพลังงาน สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตก๊าซรายใหญ่ที่สุดของโลก อาจจะเป็นสาเหตุให้เกิดวิกฤตพลังงาน โดยหากสหรัฐเริ่มส่งออกพลังงานไปยังประเทศต่างๆทั่วโลก รัสเซียอาจรู้สึกว่าถูกคุกคาม ซึ่งจะนำไปสู่พายุความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ นอกจากนี้ สหรัฐอาจจะควบคุมราคาพลังงาน และอาจจะใช้อิทธิพลเหนือประเทศอื่นๆ เช่น สหราชอาณาจักร อินเดีย และญี่ปุ่น
อันดับที่ 4 ได้แก่ ภาวะฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ โดยนายบริสระบุว่า มีความเสี่ยงที่ภาวะฟองสบู่ภาคอสังหาริมทรัพย์จะก่อตัวขึ้นในหลายประเทศ เช่น บราซิล จีน แคนาดา หรือเยอรมนี เนื่องจากราคาอสังหาริมทรัพย์กำลังปรับตัวสูงขึ้น อันเนื่องมาจากการปล่อยสินเชื่อเป็นจำนวนมาก และผู้ซื้อกำลังผลักดันให้ราคาปรับตัวขึ้นโดยไม่ได้ตระหนักถึงความสอดคล้องกับมูลค่าพื้นฐาน
อันดับที่ 5 ได้แก่ การจัดอันดับเครดิตและการล้มละลาย โดยปัจจุบันหลายบริษัทมีหนี้สินเป็นจำนวนมาก และบรรทัดฐานใหม่ที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือการมีอันดับความน่าเชื่อถือที่ระดับ BBB สำหรับในสหรัฐนั้น มีเพียง 3 บริษัทที่ยังคงรักษาอันดับความน่าเชื่อถือที่ระดับ AAA ได้แก่ เอ็กซอนโมบิล ไมโครซอฟท์ และจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน หากอันดับความน่าเชื่อถือคือดัชนีชี้วัดการล้มละลาย การล้มละลายก็คงจะเกิดขึ้นทั่วทั้งกระดาน และหากอัตราดอกเบี้ยปรับตัวเพิ่มขึ้น 2% ครึ่งหนึ่งของภาคธุรกิจก็อาจจะสูญหายไป
อันดับที่ 6 ได้แก่ สงครามและความขัดแย้ง โดยในเกือบทุกภูมิภาคทั่วโลก ยกเว้นบางส่วนของยุโรปและในสหรัฐอเมริกา มีความตึงเครียดทางการเมืองมากขึ้น เหตุการณ์ที่คล้ายกับวิกฤตปัจจุบันในไครเมียอาจจะนำไปสู่การทรุดตัวลงของตลาด ถึงแม้ว่าจะไม่เกิดสงครามก็ตาม
อันดับที่ 7 ได้แก่ ความยากจนที่เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก นายบริสระบุว่า เมื่อใดก็ตามที่คนจนยากจนลงอีก เราก็สามารถคาดเดาได้ว่าจะเกิดความขัดแย้งทางสังคมตามไปด้วย นอกจากนี้ การต่อต้านความไม่เท่าเทียมกันทางรายได้อาจจะขัดขวางการสร้างสรรค์นวัตกรรมและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
อันดับที่ 8 ได้แก่ เงินสดและเงินเฟ้อขั้นรุนแรง ปริมาณเงินสดส่วนเกินที่ธนาคารกลางและบริษัทต่างๆถือครองอยู่นั้น อาจนำไปสู่ความเสียหายต่อเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) กำลังปล่อยเงินกู้ให้กับสถาบันการเงินที่นำเงินดังกล่าวกลับมาฝากไว้ที่อีซีบี ซึ่งถือเป็นวงจรอุบาทว์
นายบริสกล่าวสรุปว่า แม้ดูเหมือนเศรษฐกิจของหลายประเทศกำลังฟื้นตัวนับตั้งแต่เกิดวิกฤตในปี 2551 แต่เรายังไม่ควรชะล่าใจ “บ่อยครั้งมากที่เราไม่ได้เรียนรู้จากประวัติศาสตร์ และไม่มีการดำเนินการเมื่อเผชิญกับวิกฤตที่เรารู้ว่าใกล้จะเกิดขึ้น"