รายงานในหัวข้อ Assessing the Costs of Climate Change and Adaptation in South Asia ของเอดีบี คาดว่า อุณหภูมิโลกจะสูงขึ้นอีก 4.6 องศาเซลเซียส และเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีความไม่แน่นอน จึงมีโอกาสเล็กน้อยที่อัตราการหดตัวต่อปีจะเพิ่มขึ้นไปแตะที่ระดับสูงถึง 24% ภายในปี 2643
นายบินดู โลฮานี รองประธานเอดีบีระบุในแถลงการณ์ว่า “เศรษฐกิจของเอเชียใต้กำลังถูกคุกคาม และชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนหลายล้านคนที่อาศัยอยู่บนภูเขา ปากแม่น้ำ และเกาะในภูมิภาคนี้กำลังตกอยู่ในความเสี่ยง"
รายงานดังกล่าวยังระบุด้วยว่า หมู่เกาะมัลดีฟส์และประเทศเนปาลจะได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด โดยเศรษฐกิจจะหดตัวลงถึง 12.6% และ 9.9% ทุกๆปีจนถึงปี 2643 ในขณะเดียวกัน คาดว่าเศรษฐกิจบังคลาเทศจะหดตัวลง 9.4% อินเดีย 8.7% ภูฏาน 6.6% และศรีลังกา 6.5%
เอดีบีระบุว่า หากประชาคมโลกไม่แก้ปัญหาตั้งแต่เนิ่นๆ เกือบทุกพื้นที่ของเอเชียใต้จะได้รับความเสียหายจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น ตัวอย่างเช่น ผลผลิตข้าวในบังคลาเทศ อินเดีย และศรีลังกา อาจจะลดลงมากถึง 23% ต่อปี ภายในปี 2623
นอกจากนี้ ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น 1 เมตรจะส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้คน 95 ล้านคน และอีกกว่า 100 ล้านคนอาจได้รับผลกระทบจากคลื่นพายุซัดฝั่ง (Storm Surge) ขณะที่การเปลี่ยนแปลงในรูปแบบของฝนอาจส่งผลให้การบรรลุความต้องการด้านพลังงานและแหล่งน้ำในภูมิภาคเป็นเรื่องที่ยากขึ้น รวมทั้งอาจส่งผลให้มีไข้เลือดออกและโรคท้องร่วงระบาดมากขึ้น
เอดีบีระบุว่า หากทั่วโลกพร้อมใจกันลดการพึ่งพาพลังงานจากฟอสซิล และชะลอการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ ก็อาจจะทำให้การสูญเสียทางการเงินและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับมนุษย์อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในเอเชียใต้นั้น ลดลงจากที่ประมาณการไว้
รายงานระบุว่า หากอุณหภูมิเพิ่มขึ้นไม่ถึง 2 องศาเซลเซียสภายใต้ข้อตกลงโคเปนเฮเกน-แคนคูน เศรษฐกิจของเอเชียใต้จะหดตัวลงเพียง 1.3% ต่อปีภายในปี 2593 และ 2.5% ต่อปีภายในปี 2643 สำนักข่าวซินหัวรายงาน