ความสำเร็จของการทำแบบทดสอบ Stress Test ในสหรัฐที่สามารถกระตุ้นเตือนธนาคารทั้งรายใหญ่และรายเล็กให้หันมาดูแลฐานเงินทุนในองค์กรของตนเองอย่างจริงจังนั้น ทำให้ประเทศฝั่งยุโรปตั้งความหวังว่าจะเจริญรอยตามสหรัฐได้บ้าง แม้การทดสอบ Stress Test ในยุโรปจะมีข้อจำกัดมากมาย เนื่องจากยุโรปไม่ได้มีระบบการเงินเชิงเดี่ยวอย่างสหรัฐ แต่ประกอบไปด้วย 27 ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ที่มีระบบการเงินแตกต่างกันแต่กลับใช้สกุลเงินเดียวกัน นอกจากนี้ แต่ประเทศสมาชิกยังมีโครงสร้างเศรษฐกิจและศักยภาพในการแข่งขันที่ไม่เท่ากัน ด้วยการใช้สกุลเงินร่วมกันนี้ จึงทำให้เมื่อประเทศใดประเทศหนึ่งเผชิญปัญหาเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากความสามารถในการแข่งขันที่ถดถอยลง ก็ไม่สามารถที่จะลดค่าเงิน หรือลดราคาสินค้าเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันได้
อย่างไรก็ตาม วิกฤติซับไพร์มของสหรัฐในปี 2551 และวิกฤตหนี้สาธารณะของยุโรปเองในปี 2553 ได้ส่งผลกระทบต่อสถาบันการเงินของยูโรโซนอย่างหนัก จึงทำให้ยุโรปตัดสินใจฟื้นฟูระบบสถาบันการเงิน ด้วย 2 วิธีการหลักๆ คือการทำ Stress Test และการเพิ่มสภาพคล่องในระบบการเงิน
ยุโรป ภายใต้การนำของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และคณะกรรมการกำกับดูแลภาคการธนาคารของสหภาพยุโรป (CEBS) ได้เริ่มเปิดฉากการทดสอบ Stress Test ครั้งแรกในปี 2553 โดยทำการทดสอบภาวะวิกฤตของธนาคารพาณิชย์ 91 แห่ง ซึ่งในครั้งนั้นธนาคารขนาดเล็กและใหญ่ต่างก็ต้องเข้าทดสอบกันถ้วนหน้า ด้วยการวัดความแข็งแกร่งของเงินกองทุนขั้นที่ 1 (Tier 1 capital) ซึ่งเป็นตัววัดสำคัญด้านความแข็งแกร่งทางการเงิน โดยอีซีบีต้องการประเมินว่าอัตราส่วนทุนต่อสินทรัพย์จะยังคงอยู่เหนือระดับอ้างอิงขั้นต่ำที่ 6% ของสินทรัพย์หรือไม่ ในเรื่องนี้ นายมิเชล บาร์นิเยร์ โฆษกฝ่ายกิจการตลาดต่างประเทศของคณะกรรมาธิการยุโรปกล่าวว่า การทดสอบภาวะวิกฤติธนาคารพาณิชย์มีเป้าหมายที่จะป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตในภาคธนาคารเหมือนกับไอร์แลนด์ หลังจากวิกฤตที่เกิดขึ้นทำให้รัฐบาลไอร์แลนด์ต้องตัดสินใจขอความช่วยเหลือด้านการเงินจากไอเอ็มเอฟและอียู นอกจากนี้ การทดสอบภาวะวิกฤตรายปียังมีเป้าหมายที่จะสร้างความเชื่อมั่นในภาคธนาคารของยุโรปด้วย
จากนั้นอีซีบีและ CEBS ก็ดำเนินการทดสอบ Stress Test ของธนาคารพาณิชย์ในยุโรปเรื่อยมา... จนกระทั่งเมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 ต.ค.ที่ผ่านมา อีซีบีได้ออกมาเปิดเผยผลการทดสอบ Stress Test ของธนาคาร 130 แห่ง ซึ่งผลปรากฎว่า มีธนาคารเพียง 25 แห่งเท่านั้นที่ไม่ผ่านการทดสอบ เนื่องจากมีเงินกองทุนไม่เพียงพออยู่ 2.46 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยหากคิดเฉพาะการประเมินมูลค่าสินทรัพย์ ปรากฏว่าแบงก์ยุโรปตีมูลค่าสินทรัพย์ตนเองสูงเกินไปกว่า 4.8 หมื่นล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม การทดสอบ Stress Test ในครั้งนี้ ได้สร้างความกังขาให้กับผู้เชี่ยวชาญในแวดวงการเงินไม่น้อย บางท่านตั้งข้อสังเกตุว่า เพราะเหตุใดจึงไม่มีธนาคารสเปนอยู่ในลิสต์ของกลุ่มที่ไม่ผ่านมาทดสอบในรอบนี้ เนื่องจากธนาคารกลางสเปนเคยประสบความล้มเหลวมาแล้วจากการใช้มาตรการการกันสำรองแบบพลวัต จึงทำให้ผู้เชี่ยวชาญตั้งคำถามในใจว่า สเปนจะต้านทานวิกฤตในอนาคตได้จริงหรือ?
ถึงกระนั้นก็ตาม ต้องยอมรับในความพยายามของยุโรป ที่ต้องการสร้างรากฐานของภาคธนาคารให้แข็งแกร่งและมีความน่าเชื่อถือ แต่หนทางสู่ความสำเร็จย่อมไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ จึงทำให้ทั้งธนาคารกลางยุโรปและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องเดินฝ่าเสียงวิพากษ์วิจารณ์และอุปสรรคนานัปการที่รอให้ขบคิดอยู่ข้างหน้า
* ปุจฉา-วิสัชนา : สารพันคำถามเกี่ยวกับ Stress Test
- Stress Test คืออะไร?
*Stress Test เป็นการทดสอบภาวะวิกฤต เพื่อประเมินว่าธนาคารพาณิชย์สามารถต้านทานวิกฤตการณ์ต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นในวันข้างหน้าได้หรือไม่ โดยเจ้าหน้าที่จะจำลองเหตุการณ์ต่างๆ รวมทั้งจำลอความเสี่ยงที่คาดว่าธนาคารจะต้องเผชิญ รวมถึงความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อทุนสำรองของธนาคาร นอกจากนี้ ความเสี่ยงยังอาจครอบคลุมถึงวิกฤตที่เกิดจากอัตราดอกเบี้ย ราคาของหุ้น อัตราแลกเปลี่ยน และความเสี่ยงอื่นๆที่จะส่งผลกระทบต่องบดุลของสถาบันการเงินนั้นๆ
- วิธีการทดสอบ Stress Test เป็นอย่างไร?
*อีซีบีและ CEBS จะจำลองวิธีการรับมือของธนาคารว่า จะสามารถจัดการกับแรงกดดันทางการเงิน เงินกู้ และสินทรัพย์อื่นๆในภาวะที่เศรษฐกิจถดถอยลงอย่างรุนแรงได้หรือไม่ นอกจากนี้ ธนาคารจะถูกทดสอบในเรื่องความแข็งแกร่งของฐานเงินทุนขั้นที่ 1 โดยอีซีบีต้องการดูว่าอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์จะยังคงอยู่เหนือระดับอ้างอิงขั้นต่ำที่ 6% ในระหว่างการทดสอบหรือไม่
- ถ้าผลการทดสอบออกมาไม่ผ่าน สถาบันการเงินต้องทำอย่างไร?
- อีซีบีกำหนดว่า ธนาคารพาณิชย์ที่มีฐานเงินทุนต่ำกว่าข้อกำหนดของอีซีบีนั้น จะต้องเตรียมแผนเงินทุนภายใน 2 สัปดาห์นับตั้งแต่ที่มีการประกาศผลการทดสอบ และธนาคารมีเวลา 9 เดือนในการชดเชยภาวะฐานเงินทุนที่ต่ำกว่าข้อกำหนด