นักเศรษฐศาสตร์ทั้งสองคนได้แสดงความคิดเห็นในที่ประชุม "Arab Strategy Forum " ซึ่งเป็นการว่าด้วยแนวโน้มเศรษฐกิจและการเมืองปี 2558
นายฟุกุยามะ ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เปิดเผยว่า เขามีความกังวลต่อความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งจะกลายเป็นปัญหาท้าท้ายต่อประเทศในกลุ่มยุโรป พร้อมกับกล่าวว่า ภาวะไร้เสถียรภาพทางการเมือง และการร่วงลงอย่างหนักของสกุลเงินรูเบิลรัสเซียเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆนั้น เป็นปัจจัยเสี่ยงสำหรับทั้งรัสเซียและประเทศเพื่อนบ้านในยุโรป
ด้านนายพอล ครุกแมน เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ประจำปี 2551 ได้แสดงความเห็นด้วยกับความคิดเห็นของนายฟุกุยามะในประเด็นรัสเซีย โดยกล่าวว่าประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินแห่งรัสเซียเริ่มหมดทางเลือก เนื่องจากรัสเซียได้ใช้งบประมาณไปแล้วกว่า 8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อสกัดการอ่อนค่าของเงินรูเบิล
อย่างไรก็ตาม ขณะที่ราคาน้ำมันได้ปรับตัวลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบห้าปี ประกอบความอุปสงค์พลังงานที่ซบเซาลงและการประกาศคงเพดานการผลิตของกลุ่มโอเปค นายครุกแมนคาดว่า ปัจจัยดังกล่าวนี้จะส่งผลให้รายได้ของรัสเซียลดลงอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ราคาน้ำมันที่ลดลงยังจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในชาติตะวันตก
สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศนำเข้าน้ำมันรายใหญ่ และราคาน้ำมันที่ต่ำนั้นเป็นผลดีต่อสหรัฐ แต่ก็ยังส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมน้ำมันหินดินดานในสหรัฐ โดยนายครุกแมนชี้ว่าผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นนั้น "มีความซับซ้อนและยังไม่สามารถสรุปได้ตอนนี้"
นายฟุกุยามะ มองว่า เศรษฐกิจจีนจะยังคงขยายตัวต่อเนื่อง และคาดว่าจะมีอิทธิพลเหนือสหรัฐในอีก 25 ปีข้างหน้า
ในส่วนของปัญหาความไม่สงบในตะวันออกกลาง นายฟุกุยามะเชื่อว่า สื่อได้ให้ความสำคัญกับความเคลื่อนไหวของกลุ่มกองกำลังรัฐอิสลาม (IS) มากเกินไป โดยนายฟุกุยามะ ศาสตราจารย์ชื่อดังจากสแตนฟอร์ดกล่าวว่า "ผมคิดว่ากลุ่ม IS ไม่น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อสถานการณ์การเมืองทั่วโลก" สำนักข่าวซินหัวรายงาน