อินเดียเสนองบประมาณปี 58-59, ลดภาษีนิติบุคคล เพิ่มเงินอุดหนุนเกษตรกร

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday February 28, 2015 17:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอรุณ เชฏลี รัฐมนตรีคลังของอินเดีย ได้เสนองบประมาณประจำปีฉบับแรกของรัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ซึ่งจะมีการลดการเก็บภาษีบริษัทต่างๆลงจาก 30% เป็น 25% เป็นเวลา 4 ปี พร้อมยืนยันว่ารัฐบาลจะเพิ่มการสนับสนุนภาคการเกษตร ตลอดจนเผยถึงการจัดตั้งระบบประกันสังคมสำหรับประชาชนชาวอินเดียทุกคน

"ผมขอนำเสนองบประมาณในสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ดีกว่าในช่วงที่ผ่านมามาก โดยในขณะที่ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลกเผชิญความยุ่งยากต่างๆ อินเดียกลับขยายตัวสูงขึ้น" นายเชฏลีกล่าวขณะเริ่มแถลงงบประมาณประจำปี 2558-2559 ต่อโลกสภา หรือสภาผู้แทนราษฎรของอินเดียในวันนี้

เขาเผยว่า อัตราเงินเฟ้อล่าสุดของอินเดียอยู่ที่ 5.1% และเงินเฟ้อราคาค้าส่งอยู่ในระดับติดลบ ขณะที่เงินรูปีแข็งค่าขึ้น 6.4% ส่วนอัตราขยายตัวของประเทศอยู่ที่ 7.5% ในปีงบประมาณสิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค. ซึ่งนับว่าสูงที่สุดในโลก

รมว.คลังอินเดียระบุว่า เศรษฐกิจของอินเดียกำลังขยายตัวในอัตราที่แข็งแกร่ง "การขยายตัวของจีดีพีในปีงบประมาณปัจจุบันอยู่ที่ 7.5% ซึ่งทำให้อินเดียเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่มีการขยายตัวรวดเร็วที่สุดในโลก และคาดว่าเศรษฐกิจอินเดียจะโตระหว่าง 8-8.5% ในปีงบประมาณซึ่งจะเริ่มต้นในวันที่ 1 เม.ย.2558 และตั้งเป้าว่าจะขยายตัวในอัตราตัวเลขสองหลักได้ในอีกไม่นาน"

"เงินเฟ้อลดลง และทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง เหล่านี้ล้วนเป็นสัญญาณที่ดีของเศรษฐกิจซึ่งกอบกู้ความน่าเชื่อถือ เราสามารถเอาชนะเงินเฟ้อได้ เป้าหมายของเราคือรักษาอัตราเงินเฟ้อไว้ให้อยู่ที่ระดับต่ำกว่า 6%"

รมว.คลังอินเดียเผยว่า "ภาษีนิติบุคคลจะถูกลดลงจาก 30% เป็น 25%" โดยเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการของรัฐบาลในการนำเสนอภาพลักษณ์ที่เป็นมิตรต่อนักลงทุน

นายเชฏลีปฏิเสธเรื่องการลดเงินอุดหนุนสำหรับเกษตรกร ตามที่ได้รับการเรียกร้องจากสหรัฐในระหว่างการหารือขององค์การการค้าโลก (WTO) โดยกล่าวว่า เงินอุดหนุนจำนวนหลายหมื่นล้านดอลลาร์จะถูกจัดสรรให้แก่เกษตรกรของประเทศ

ขณะเดียวกัน การจัดสรรเงินสำหรับโครงการต่างๆในภาคสังคมจะได้รับการยกระดับขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ควบคู่กับแผนงานใหม่ๆในด้านประกันสังคม นอกจากนี้ เขายังได้เน้นด้วยว่าการจัดสรรเงินสำหรับแผนรับประกันการจ้างงานในชนบทจะสูงที่สุดเท่าที่เคยมีมา

สำหรับการแถลงที่สำคัญในวันนี้ยังรวมถึงการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ 4,000 เมกาวัตต์ รวม 5 โครงการ เพื่อบรรเทาวิกฤตพลังงานของประเทศ พร้อมทั้งเริ่มใช้ระบบภาษีสินค้าและบริการที่เป็นแบบเดียวกันทั่วประเทศภายในเดือนเม.ย. 2559 และเพิ่มการใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐานเป็น 1.13 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ