โดยวิกฤติการเงินโลกเมื่อปี 2551 นั้นแตกต่างไปจากวิกฤตการณ์ครั้งก่อนๆ เนื่องจากไม่ได้มีความเกี่ยวเนื่องกับการปรับตัวลดลงของระดับผลผลิตทั่วโลกเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นผลจากการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องของอัตราการขยายตัวด้วยเช่นกัน
แนวโน้มการขยายตัวนั้นเป็นปัจจัยชี้วัดว่า เศรษฐกิจสามารถเติบโตได้รวดเร็วเพียงใดเมื่อไม่มีปัจจัยด้านเงินเฟ้อหรือเงินฝืดเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยการวิจัยดังกล่าวซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกของ IMF นั้นอาจถูกนำไปใช้เป็นทฤษฎีสนับสนุนการหารือเพื่อกระตุ้นการเติบโต ในการประชุมประจำฤดูใบไม้ผลิระหว่าง IMF และธนาคารโลกสัปดาห์หน้า
ผลการวิจัยพบว่า เศรษฐกิจประเทศที่พัฒนาแล้วน่าจะขยายตัวจากราว 1.3% ในระหว่างปี 2551-2557 เป็น 1.6% ในปี 2558-2563 แต่ยังนับว่าต่ำกว่าระดับก่อนที่จะเกิดวิกฤติการเงิน ซึ่งค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2.25% ระหว่างปี 2544-2550
ส่วนตลาดเกิดใหม่นั้นน่าจะชะลอตัวลงจาก 6.5% ระหว่างปี 2551-2557 เป็น 5.2% ในปี 2558-2563 ภายหลังจากที่กลุ่มผู้สูงอายุมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ประกอบกับการลงทุนที่ลดลง และผลิตภาพชะลอตัวลง เนื่องจากช่องว่างทางเทคโนโลยีระหว่างตลาดเกิดใหม่และประเทศพัฒนาแล้วเริ่มลดลง
นอกจากนี้ ในขณะที่รัฐบาลจีนกำลังปฏิรูปเศรษฐกิจจากการอิงการลงทุนมาสู่การเน้นการบริโภคนั้น การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนก็น่าจะชะลอตัวลงในอีกห้าปีข้างหน้า
ทั้งนี้ IMF ชี้ว่า ประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วควรจะกระตุ้นความต้องการ ขับเคลื่อนการปฏิรูปโครงสร้าง และส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา ขณะที่ตลาดเกิดใหม่ควรหันไปกระตุ้นการใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐาน และดำเนินแผนปฏิรูปโครงสร้าง ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อยกระดับภาวะธุรกิจและตลาดผลิตภัณฑ์ พร้อมสนับหนุนการจัดหาทุนมนุษย์ สำนักข่าวซินหัวรายงาน