นายลาร์ดีกล่าวว่า จีนมีระบบเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกในแง่ของความเสมอภาคของอำนาจซื้อ (purchasing power parity: PPP) แต่ในแง่ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อหัวนั้น คิดเป็นสัดส่วนเพียง 1 ใน 5 ของสหรัฐ แต่เมื่อมีการปฏิรูปอย่างเหมาะสมแล้วก็น่าจะสามารถตามทันได้ไม่ยาก
นายลาร์ดีเผยว่า เศรษฐกิจจีนมีความแตกต่างกันเป็นอย่างมากในแง่ของผลิตภาพระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยในภาคบริการนั้น สัดส่วนการลงทุนจากภาครัฐสูงกว่าภาคเอกชน แต่ผลตอบแทนที่ได้รับกลับกลายเป็นเพียงครึ่งหนึ่งของนักลงทุนภาคเอกชน
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า "หากทางการจีนยึดมั่นในคำสัญญาที่จะเปิดกว้างภาคบริการสู่การลงทุนจากภาคเอกชนแล้ว ภาคบริการก็น่าจะมีผลิตภาพเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก"
ปัจจุบัน ผลผลิตของภาคบริการคิดเป็นสัดส่วน 48.2% ของจีดีพีจีน โดยการปรับตัวเพิ่มขึ้นของผลิตภาพในภาคบริการจะช่วยกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจจีน
ผลการวิจัยล่าสุดของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุว่า เมื่อรัฐบาลจีนดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจจากอิงการลงทุนเป็นการบริโภคแล้ว ผลิตภาพก็จะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ซึ่งจะช่วยชดเชยผลกระทบเชิงลบจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของประชากรสูงอายุและการปรับตัวลดลงของอัตราส่วนทุนต่อผลผลิต
นายลาร์ดีมองว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจจีนกำลังเผชิญกับภัยเสี่ยงสำคัญสองประการด้วยกัน ได้แก่ การร่วงลงอย่างหนักของตลาดอสังหาริมทรัพย์ และการทะยานขึ้นอย่างรุนแรงของปริมาณสินเชื่อ
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญรายนี้เชื่อว่า การชะลอตัวลงของตลาดอสังหาฯ นับเป็นเรื่องที่ดี เนื่องจากภาคอสังหาฯนั้นมีการลงทุนมากเกินควรมาสักระยะหนึ่งแล้ว โดยเขาชี้ว่า จีนควรรีบคว้าโอกาสนี้เพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูป และก้าวออกจากการอิงการลงทุนเป็นอิงการบริโภคทีมีความมั่นคงและมีประสิทธิภาพ
ผู้เชี่ยวชาญมองว่า จีนมีความคืบหน้าในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เมื่อพิจารณาจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของรายได้ การปรับตัวลดลงเล็กน้อยในอัตราส่วนการออม และการปรับตัวเพิ่มขึ้นของการบริโภคภาคเอกชนในแง่ของจีดีพี โดยตัวเลขการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคที่เพิ่มขึ้นนั้น สามารถชดเชยการลงทุนภาคอสังหาที่ชะลอตัวลง
สำหรับภัยเสี่ยงทางการเงิน นายลาร์ดีเผยว่า รัฐบาลจีนได้เล็งเห็นถึงภัยเสี่ยงจากปริมาณสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก และได้ดำเนินมาตรการต่างๆเพื่อชะลอปริมาณสินเชื่อ พร้อมกวดขันมาตรการกำกับดูแลภาคธนาคารเงา สำนักข่าวซินหัวรายงาน