รายงานรอบครึ่งปีของกระทรวงการคลังสหรัฐที่ยื่นต่อคณะกรรมาธิการด้านนโยบายเศรษฐกิจและอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศแห่งสภาคองเกรสระบุว่า จีนมีความคืบหน้าอย่างแท้จริงในการผลักดันระบบอัตราแลกเปลี่ยนให้เคลื่อนไหวตามกลไกตลาด พร้อมระบุว่า ยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของจีนปรับตัวลดลงอย่างมาก จากระดับ 10% ของจีดีพีในปี 2550 มาอยู่ที่ระดับ 2.1% ในปี 2557 และดัชนีค่าเงินหยวนที่แท้จริง (real effective exchange rate) ปรับตัวขึ้นกว่า 10% ในช่วง 6 เดือนที่แล้ว ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นที่รวดเร็วที่สุดนับตั้งแต่ปี 2552
ขณะเดียวกัน รายงานของกระทรวงการคลังสหรัฐยังระบุว่า จีนได้ลดระดับการแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตรา ซึ่งสอดคล้องกับคำมั่นสัญญาที่รัฐบาลจีนให้ไว้ในการประชุมยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจจีน-สหรัฐ (S&ED) และยังระบุด้วยว่า แม้สกุลเงินหยวนของจีนเผชิญกับแรงกดดันช่วงขาลงในระยะสั้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์ เช่นจากการที่ธนาคารกลางจีนได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ย และเม็ดเงินทุนไหลออกนอกประเทศภายใต้ระบบบัญชีทุน ณ สิ้นปี 2557 แต่เมื่อพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐานแล้ว เงินหยวนยังคงแข็งค่า และจำเป็นอย่างยิ่งที่จีนจะต้องเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับเงินหยวนในระยะกลางนี้
นอกจากนี้ รายงานของกระทรวงการคลังยังระบุด้วยว่า การปรับตัวลงของราคาน้ำมันทำให้จีนได้รับประโยชน์ด้านการค้า ซึ่งจะทำให้จีนมียอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันจีนยังคงมีศักยภาพด้านการผลิตที่ค่อนข้างสูงกว่าประเทศคู่ค้ารายใหญ่ๆ และการแข็งค่าของเงินหยวนก็สอดคล้องกับความพยายามของจีนที่จะสร้างดุลภาพทางเศรษฐกิจด้วยการกระตุ้นการอุปโภคบริโภคในภาคครัวเรือน สำนักข่าวซินหัวรายงาน