ประเด็นร้อนที่ได้มีการหารือกันในการประชุมกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 17-19 เม.ย.ที่ผ่านมา มีทั้งเรื่องกระแสเงินทุนในจีนไปจนถึงสถานการณ์ในกรีซ
สถานการณ์หนี้กรีซ
จุดยืนในการยกเลิกมาตรการรัดเข็มขัดของรัฐบาลกรีซยังคงเป็นประเด็นที่สร้างความกังวลให้กับประเทศในยุโรป และยังคงเป็นประเด็นเด่นในการประชุมปีนี้ เยอรมนีและประเทศต่างๆได้ผลักดันกรีซให้เดินหน้าแก้ปัญหาหนี้ ก่อนที่จะมีการอนุมัติเงินช่วยเหลืองวดต่อไป เพื่อป้องกันไม่ให้กรีซผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งภายหลังจากที่ได้มีการหารือกัน ประเด็นดังกล่าวก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแต่อย่างใด รมว.คลังฝรั่งเศส กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า เรายังคงอยู่ในสถานการณ์เดิมๆทั้งในช่วงเริ่มและสิ้นสุดการประชุม
ภาวะเงินฝืดไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว
ประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วหลายประเทศได้ก้าวเข้าสู่ปี 2558 ด้วยความกังวลที่ลดน้อยลงเกี่ยวกับภาวะเงินฝืด ภายหลังจากที่ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงและการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกยังคงซบเซา โดยนายเดวิด ลิปตัน รองผอ. IMF กล่าวว่า ความเสี่ยงเกี่ยวกับเงินฝืดที่ยืดเยื้อลดน้อยลงแล้ว ขณะที่นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นมองว่า ราคาได้ปรับตัวสูงขึ้นแล้ว
ดอลลาร์แข็งค่า
ที่ประชุม G-20 ระบุในแถลงการณ์ว่า การที่ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่านั้น หมายความถึงเงินเยนและยูโรอ่อนค่าลง และนโยบายการเงินที่เปลี่ยนแปลงไปก็อาจจะส่งผลกระทบมูลค่าเงินเหล่านี้ นอกจากนี้ สกุลเงินที่ผันผวนก็ถือเป็นภัยคุกคามต่อเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่การควบคุมเงินทุนนั้นอาจจะเป็นการดำเนินการที่เหมาะสมในการรับมือกับกระแสเงินทุนข้ามแดนจำนวนมหาศาล
การเตรียมพร้อมรับมือกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
ผู้ว่าการธนาคารกลางบางประเทศ อาทิ ธนาคารกลางอินเดียและมาเลเซีย มองว่า ธนาคารกลางอินเดียและมาเลเซียพร้อมแล้วสำหรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย นายราจัน รากุรัม ผู้ว่าการธนาคารกลางอินเดีย กล่าวถึงแผนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดว่า เรื่องนี้เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว ขณะที่ผู้ว่าการแบงก์ชาติมาเลเซีย กล่าวว่า ในที่ประชุมต่างๆ ล้วนมีความคิดเห็นที่คล้ายกันว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้น ยิ่งเกิดขึ้นเร็วเท่าไหร่ยิ่งดี เพราะยิ่งไม่มีความแน่นอนก็อาจจะเกิดความผันผวนมากขึ้นก็เป็นได้
จีนกับ AIIB
ธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (AIIB) ซึ่งจีนเป็นผู้ริเร่มนั้น ได้รับเสียงสนับสนุนทั้งในภูมิภาคและประเทศต่างๆทั่วโลก รวมถึงเยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี และอังกฤษ นับเป็นประเด็นใหญ่ที่ได้มีการหารือในการประชุม ขณะที่อดีตรมว.คลังสหรัฐเคยแสดงความเห็นผ่านทางบทความก่อนหน้านี้ว่า หากผ่านพ้นเดือนเม.ย.ไป สหรัฐก็จะสูญเสียบทบาทในการเป็นผู้รับประกันระบบเศรษฐกิจโลก