รายงาน Global Investment Trends Monitor ของอังค์ถัด เผยให้เห็นว่า ในบรรดานักลงทุนรายใหญ่ที่สุด 20 อันดับแรกนั้น 9 รายเป็นประเทศเศรษฐกิจกำลังพัฒนาหรือประเทศเศรษฐกิจเปลี่ยนผ่าน ขณะที่จีนกลายเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก
รายงานระบุว่า ในปี 2557 นั้น บรรษัทข้ามชาติ (Transnational Corporations หรือ TNCs) จากประเทศเศรษฐกิจกำลังพัฒนาได้ลงทุนในต่างประเทศไปเกือบห้าแสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้น 30% จากปีก่อนหน้า ส่งผลให้กลุ่มประเทศเศรษฐกิจกำลังพัฒนามีส่วนแบ่งในการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ทั่วโลกทำสถิติสูงสุดที่ 36% เพิ่มขึ้นจาก 12% ในปี 2550 หรือก่อนที่จะเกิดวิกฤตการเงินโลกหนึ่งปี
รายงานระบุว่า การลงทุนโดย TNCs ในประเทศพัฒนาแล้ว ทรงตัวเป็นส่วนใหญ่ ที่ระดับ 7.92 แสนล้านดอลลาร์ โดยการลงทุนจากอเมริกาเหนือและยุโรปที่เพิ่มขึ้นปานกลางได้ช่วยชดเชยการลงทุนในต่างประเทศของญี่ปุ่นที่ลดลง 16%
การลงทุนมากกว่าครึ่งหนึ่งจาก TNCs ในประเทศเศรษฐกิจกำลังพัฒนานั้นเป็นการลงทุนในหุ้น ขณะที่ FDI ถึงสี่ในห้าจากประเทศพัฒนาแล้ว เป็นการลงทุนในรูปของการนำกำไรกลับมาลงทุน (Reinvested Earnings)
อังค์ถัดประมาณการว่า ความต้องการลงทุนของ TNCs จะปรับตัวดีขึ้น เพราะได้แรงหนุนจากโอกาสทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ตลอดจนนโยบายการเงินเชิงรุกในยูโรโซน และการถือครองเงินสดจำนวนมากของบริษัทต่างๆ
อย่างไรก็ตาม TNCs ยังคงลงทุนอย่างระมัดระวัง เนื่องจากความเปราะบางในตลาดเกิดใหม่บางแห่ง ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และสถานการณ์ตึงเครียดทางการเมืองที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาคต่างๆ