หลายฝ่ายจับตาดูว่าวุฒิสภาสหรัฐจะผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวหรือไม่ ซึ่งร่างกฎหมายฉบับนี้จะมอบอำนาจพิเศษในการเจรจาการค้าแบบเร่งด่วน (Trade Promotion Authority) ให้กับประธานาธิบดีสหรัฐในการลงคะแนนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในสัปดาห์หน้าหรือไม่ โดยอำนาจที่ว่านี้เปิดโอกาสให้ปธน.โอบามาสามารถลงนามเพื่อบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป ขณะที่วุฒิสมาชิกหลายรายไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายนี้
ญี่ปุ่นและอีกหลายๆประเทศที่อยู่ระหว่างการเจรจาหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) นั้น มองว่า TPA เป็นสิ่งที่จำเป็นซึ่งจะช่วยเร่งการสรุปข้อตกลงการค้าดังกล่าว ซึ่งจะคิดเป็นสัดส่วนถึง 40% ของเศรษฐกิจโลก
การเจรจา TPP แทบไม่เกิดความคืบหน้าตั้งแต่เมื่อช่วงต้นปี แม้ว่าทั้ง 12 ประเทศได้มีการหารือระดับสูงบ่อยครั้งในสหรัฐอเมริกา โดยสหรัฐมองว่า TPP เป็นปัจจัยสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการให้ความสำคัญต่อเอเชีย
การผ่านร่างกฎหมายการค้าแบบ fast-track นั้นจะเปิดโอกาสให้รัฐบาลสหรัฐสามารถสรุปข้อตกลงการค้า ซึ่งรวมถึง TPP ด้วยการเปิดโหวตผ่าน/ไม่ผ่านในสภาคองเกรส
ทั้งนี้ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย บรูไน ชิลี นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ และเวียดนาม ได้เริ่มการเจรจาเพื่อลงนามข้อตกลง TPP เมื่อปี 2553 โดยมาเลเซีย เม็กซิโก แคนาดา และญี่ปุ่น ได้ร่วมการเจรจาในภายหลัง สำนักข่าวเกียวโดรายงาน